In Focus“ลิเบีย" ประเทศเล็กๆที่ถูกรุมทึ้งเพราะ “น้ำมัน"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 26, 2011 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

20 ตุลาคม 2554 ขบวนรถของ พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งกำลังหลบหนีออกจากเมืองเซิร์ต เมืองบ้านเกิดและฐานที่มั่นสุดท้ายของผู้นำเผด็จการ ถูกเครื่องบินรบฝรั่งเศสของกองกำลังนาโตโจมตี ผู้นำวัย 69 ปีต้องหนีหัวซุกหัวซุนลงไปซ่อนตัวในท่อระบายน้ำใต้พื้นถนน แต่ก็ไม่พ้นเงื้อมมือของกองกำลังฝ่ายสภาถ่ายโอนอำนาจ หรือ เอ็นทีซี ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ผู้คุ้มกันกัดดาฟีถูกสังหารหมด ส่วนเจ้าตัวถูกจับกุม และในที่สุดก็ถูกกระสุนปืนเจาะเข้าที่ขมับซ้ายเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ ปิดฉากชีวิตผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในลิเบียมานานถึง 42 ปี

ชาวลิเบียยินดี-ทั่วโลกปรีดา

“เราขอประกาศต่อโลกว่า กัดดาฟีได้ถูกสังหารด้วยน้ำมือของฝ่ายปฏิวัติแล้ว" เอ็นทีซีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและนาโต แถลง “มันเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ เป็นการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งทรราชและระบอบเผด็จการ กัดดาฟีพบกับจุดจบของเขาแล้ว"

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า การเสียชีวิตของคนๆหนึ่ง จะทำให้คนอีกหลายล้านมีความสุขได้มากมายขนาดนี้ สิ้นเสียงประกาศดังกล่าว ประชาชนชาวลิเบียต่างออกมาเฉลิมฉลองกันตามท้องถนนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเมืองมิสราตาซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของกลุ่มเอ็นทีซี และเมืองหลวงตริโปลี ผู้ขับขี่รถยนต์พากันบีบแตรเสียงดังสนั่น มีการยิงปืนขึ้นฟ้า และฉีกทำลายรูปภาพของอดีตผู้นำรายนี้กันอย่างสนุกสนาน

ส่วนต่างชาติโดยเฉพาะชาติที่ชอบแทรกแซงเรื่องภายในของประเทศอื่นก็ไม่พลาดที่จะร่วมแสดงความยินดี ที่ขาดไม่ได้แน่นอนคือสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา อ้างว่าการที่สหรัฐอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการโค่นอำนาจผู้นำลิเบีย มีส่วนทำให้กัดดาฟีถูกสังหารและนำไปสู่การปลดปล่อยชาวลิเบีย ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าพร้อมยืนเคียงข้างรัฐบาลใหม่ของลิเบียที่จะมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่

ด้านนายเฮอร์มัน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป และนายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า การเสียชีวิตของกัดดาฟีเป็นจุดจบของยุคสมัยแห่งการกดขี่ข่มเหง และถึงเวลาที่ลิเบียจะสร้างอนาคตที่มีความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า ลิเบียพร้อมเริ่มต้นใหม่ในฐานะประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนมากกว่าเดิม

เพื่อประชาธิปไตย เพื่อประชาชน...จริงหรือ?

การที่กัดดาฟีต้องพบจุดจบอย่างหมดรูปเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกระทำของตัวเอง เนื่องจากแรกปกครองประเทศเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว กัดดาฟีก็เป็นผู้นำที่ดี ทำประโยชน์มากมายให้กับประเทศ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดเงินเดือนรัฐมนตรี ลดค่าครองชีพให้กับคนจน ช่วยให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ฯลฯ แต่นานวันเข้าก็เริ่มเสพติดอำนาจ ใช้อำนาจสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและพวกพ้อง มีการทุจริตกันอย่างมโหฬาร แต่ประชาชนยังอดอยากแร้นแค้นเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยกลายเป็นทรราชในสายตาประชาชน อย่างไรก็ตาม หากลิเบียเป็นประเทศธรรมดาที่ไม่ได้มีทรัพยากรอะไร กัดดาฟีและพวกพ้องคงสามารถเสวยสุขได้อีกหลายชั่วอายุคน แต่โชคร้ายที่ลิเบียอุดมสมบูรณ์ไปด้วย “น้ำมัน" จึงตกเป็นเป้าหมายของพญาอินทรีและพวกพ้อง

สมัยก่อนโลกตะวันตกมักอ้างว่าเป็นพันธะของคนขาวที่ต้องนำความเจริญมาสู่ประเทศที่ด้อยกว่า และหากประเทศที่ถูกยัดเยียดว่าเป็น “บ้านป่าเมืองเถื่อน" ไม่ทำตามความประสงค์ ก็จะใช้กำลังรุกล้ำยื้อแย่งดินแดนและทรัพยากรไปอย่างน่าไม่อาย มาจนถึงทุกวันนี้มุกเดิมๆก็ยังใช้ได้ผล ถ้าประเทศที่โลกตะวันตกหมายตาไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โลกตะวันตกก็มักจะใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซง โดยโจมตีว่าประเทศนั้นๆ “ไม่เป็นประชาธิปไตย" และ “ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม" สร้างภาพลักษณ์เลวร้าย (อาจเกินกว่าความเป็นจริง) ให้กระจายไปทั่วโลก จากนั้นก็อ้างความชอบธรรมในการเข้าไปทำให้ประชาชนตาดำๆมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วเป็นการรุกรานและฉกฉวยประโยชน์จากประเทศอื่น โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในชาตินั้นๆแต่อย่างใด

“น้ำมัน" ทรัพยากรที่มหาอำนาจจ้องช่วงชิง

ลิเบียเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของการล่าน้ำมัน เนื่องจากลิเบียมีทรัพยากรน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์มาก โดยครอบครองปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก มากพอที่จะสูบขึ้นมาได้นานถึง 80 ปี เรียกว่าสบายไปตลอดชาติ

จะดีจะร้ายยังไง อย่างน้อยกัดดาฟีก็ยังมีความหวงแหนในทรัพยากรของประเทศ ไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามายุ่มย่าม โดยเมื่อสมัยเข้ามามีอำนาจใหม่ๆ กัดดาฟีอาจหาญกระทำการขับไล่กองกำลังสหรัฐและอังกฤษที่ตั้งฐานทัพในลิเบียจนต้องถอนกำลังออกไปทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นก้างชิ้นโตที่ขวางต่างชาติไม่ให้เข้ามาถลุงทรัพยากรในประเทศมากเกินไป ดังนั้นเมื่อสิ้นกัดดาฟีไปแล้ว ต่างชาติก็สามารถเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของลิเบียได้อย่างสะดวกโยธิน ชาติต่างๆที่จ้องฮุบน้ำมันประกอบด้วยสหรัฐเจ้าเก่า รวมถึงอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย ไปจนถึงจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศมหาอำนาจทั้งสิ้น

หลังปลดแอกจากระบอบเผด็จการของกัดดาฟีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เอ็นทีซีตั้งเป้าว่าจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวภายใน 1 เดือน และจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 8 เดือน จากนั้นจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใน 1 ปี ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยในลิเบียกำลังผลิบานอย่างงดงาม เป็นไปตามความต้องการของประชาชนที่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ทำให้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น แต่ในระยะยาวต้องติดตามต่อไปว่าจะดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะหากผู้นำใหม่ไร้คุณธรรม สิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็เสียเปล่า เป็นแค่การเปลี่ยนกลุ่มอำนาจใหม่โดยใช้คำว่า “ประชาธิปไตย" บังหน้า นอกจากนั้นเชื่อว่า ขุมทรัพย์น้ำมันจะทำให้ชาวลิเบียไม่ได้อยู่อย่างสงบสุขแน่นอน ยิ่งถ้าโชคร้ายได้ผู้นำขายชาติ ยินดีให้ต่างชาติเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นของประชาชนทุกคนแล้ว ชีวิตของชาวลิเบียอาจเลวร้ายกว่าสมัยที่กัดดาฟีเรืองอำนาจก็เป็นได้ และการเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งคงมิอาจหลีกเลี่ยง...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ