นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2554 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการและกลไกการปฎิบัติงานฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย เพื่อเร่งดำเนินการฟื้นฟูระบบต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อีกครั้งหนึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี ได้แก่ 1'คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย(กฟย.) มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน 2.คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน(กคฐ.) โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เป็นประธาน 3.คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน(กศอ.) โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน
4.คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต(กคช.) โดยมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 5.คณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยปลอดภัยและการจราจร(กรจ.) โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 6.คณะกรรมการบริหารศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการ (กปก.) โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เป็นประธาน
7.คณะกรรมการสื่อสารสาธารณะ(กสส.) โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน 8.คณะที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ (คปน.) มีบุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธาน และ 9.คณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ทั้งนี้ให้มีศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยอาจว่าจ้างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดเพื่อปฎิบัติงานในท้องที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติงาน ลดความล่าช้า มีความรวดเร็วฉับไวในการตัดสินใจ ประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือประชาชน และทำให้เกิดกลไกลความโปร่งใส โดยใช้ผู้ประสบอุทกภัยเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยออกแบบโครงสร้าง ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ และเก็บข้อมูลในส่วนที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เสนอส่งต่อมายังคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อพิจารณากำหนดเป็นแผนการดำเนินการต่อไป
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) กล่าวถึงมาตรการการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนว่า ตำรวจพร้อมกับเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะทรัพย์ของผู้ประสบอุทกภัยไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือรถ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนที่นำรถไปจอดบนทางด่วนขอให้เขียนชื่อที่อยู่พร้อมเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าโทรศัพท์กลับกรณีเร่งด่วน และสำหรับผู้ประสบอุทกภัยท่านใดที่เป็นห่วงบ้านและทรัพย์สินในบ้าน สามารถโทรศัพท์มาได้ที่เบอร์ 1559 เพื่อแจ้งที่อยู่ของบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบและรายงานให้ทราบ
สำหรับผู้ที่ฉวยโอกาสโจรกรรมทรัพย์สินของผู้ประสบอุทกภัยจะได้รับโทษหนักสูงสุด และถูกดำเนินคดีทุกคน ไม่มีการยกเว้นเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น