นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทำงานที่รับผิดชอบและได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ โดยไม่โทษว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่อยู่ในภาวะวิกฤตขณะนี้เป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง
"ตอนนี้ใช้เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่เร่งระดมก็ไม่โทษใคร ต้องช่วยกันทุกฝ่าย อย่าบอกว่าฝ่ายโน้นผิดฝ่ายนี้ผิด กรมชลฯก็ทำเต็มที่ เมื่อวานนี้ประตูระบายน้ำบางโฉมตีก็พัง 7-8 ม.ไม่มาก เชื่อว่าวันจันทร์จะซ่อมเสร็จ ส่วนจุดต่าง ๆ13 จุดที่คลองพระยาบันลือ และเหนือคลองอีก 2-3 จุด วันที่ 12 ก็จะซ่อมเสร็จหมด หากเป็นอย่างนี้อยากบอกว่าขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ลดลงมากแล้ว ระดับน้ำที่ อ.บางไทรเหลือแค่ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อก่อนเรากลัวว่าน้ำจะท่วม กทม.จึงผันเข้าทุ่งเลย ทั้งทุ่งซ้าย ทุ่งขวา ผันไปเรื่อยและก็ไปกองที่ทุ่ง ตอนนี้ไม่มีน้ำฝนแล้ว มีแต่น้ำทุ่งและน้ำท่อ มาจากท่อแล้วตอนนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ผมอยากจะเรียนให้ทราบ" นายบรรหาร กล่าว
นายบรรหาร กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่า กทม.เรื่องเครื่องสูบน้ำนั้น ขอให้โทรศัพท์ติดต่อไปยังอธิบดีกรมชลประทานหรือ รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้โดยตรง
"เมื่อคืนวันที่ 3 พ.ย. เวลา 5 ทุ่ม ผู้ว่า กทม.ให้สัมภาษณ์ว่าได้ขอเครื่องสูบน้ำจากรมชลฯไปแล้วแต่ไม่ให้ ให้ไปถามกรมชลฯเอาเอง ผมก็เอาหนังสือมาดู ก็เห็นว่า 3 พ.ย. หนังสือปลัด กทม.ทำไปถึงกระทรวงมหาดไทย แทนที่จะทำไปถึง ศปภ.ก็ไม่ทำ และรัฐมนตรีมหาดไทยก็มารู้วันที่ 4(พ.ย.) ตอนเช้า แต่ผู้ส่า กทม. ก็ล่อกรมชลฯ ตั้งแต่คืนวันที่ 3 พ.ย.ท่านผู้ว่า กทม.ท่านเป็น ม.ร.ว. อย่าถือยศเลย โทรตรงไปที่อธิบดีกรมชลประทานเลยว่าจะขอเท่าไหร่ แค่นี้ก็จบ แต่พอไปว่าอย่างนี้ทำให้คนเข้าใจผิด นึกว่ากรมชลฯไม่ให้เครื่องสูบน้ำ ทั้งที่กรมชลฯ ตอนนี้เครื่องสูบน้ำก็ไม่มีต้องไปขอจากต่างจังหวัด นี่คือข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าอะไร โทรหารัฐมนตรีเกษตรก็ได้ รับรองให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่" นายบรรหาร กล่าว
นายบรรหาร กล่าวว่า ตอนนี้ต้องช่วยกันอย่างทางด้านตะวันตก คลองภาษีเจริญ ครึ่งหนึ่งกทม.รับผิดชอบ อีกครึ่ง กรมชลฯรับผิดชอบ ผันน้ำลงสมุทรสาครและลงทะเลให้ทันท่วงที แต่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องขยะที่มีมากเหลือเกิน น้ำก็มีมากเหลือเกิน แต่น้ำก็ไม่เดิน ตอนนี้ตะวันตกปัญหาแย่กว่าตะวันออก ทั้งไม่มีคันกั้นน้ำ เขื่อน หรือคูคลอง มันจึงไหลมากองอยู่ตรงนี้ ถ้าเทียบกับตะวันออก จะมีระบบพอสมควร และที่มีปัญหาเพิ่มอีกอย่างก็คือ เมื่อมีคันคนที่อยู่เหนือคันก็ทะลายคัน เหนือคันก็อยากให้คนอยู่ใต้คันได้ท่วมบ้าง แม้ที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี หรือที่ประตูระบายน้ำ(ปตร.) คลองข้าวเม่า ที่ทำให้น้ำลงมาท่วมนิคมโรจนะ ก็เป็นแบบนี้ เป็นระบบที่เราก็ต้องเห็นใจชาวบ้าน แต่เราก็ต้องช่วยกันเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะคลี่คลาย ตอนนี้อย่างที่อยุธยาก็เริ่มแห้งแล้ว ที่แม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้น้ำก็ลงมาไม่มาก ตอนนี้ต้องนั่งเช็คระดับน้ำทุกวัน
นายบรรหาร กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจนายกฯ เมื่อที่ปรึกษาให้คำแนะนำอะไร ท่านก็ฟังและก็ต้องฟังกรมชลประทานด้วย แต่เผอิญปีนี้น้ำมีมาก พายุเข้าตั้ง 5 ลูก ทำให้น้ำในเขื่อนมีปริมาณมาก ประกอบกับประตูระบายน้ำบางโฉมศรีพัง กรมชลฯไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องเอาทหารเข้าไปช่วย ศปภ.ก็ทำอะไรไม่ได้
"ผมก็ต้องเห็นใจ เห็นหน้านายกฯก็รู้สึกสงสาร เป็นผู้หญิง หน้าตาไม่โรยเลย แถมยิ้มแย้มแจ่มใส ลงไปหาประชาชน อ้อนวอนอย่าทลายคันกั้นน้ำ บางทีก็ยกมือไหว้ ท่านก็บริหารอย่างเต็มที่ แต่เผอิญท่านไม่มีเซ็นส์ทางนี้ แต่ท่านมีทางธุรกิจ เมื่อฟังจากที่ปรึกษาหลายฝ่ายก็ต้องตัดสินใจลงไป อย่างทำท่อรอดถนน 5 เส้น เมื่อทำไม่ได้ ท่านก็ไม่ทำ ท่านทำเต็มที่ แต่น้ำไม่เข้าใครอออกใคร มันต้องใช้เวลาคิดว่าน้ำจะลงได้ก็ประมาณ 1 เดือน เดือนนี้ก็ไม่ลง" นายบรรหาร กล่าว
ส่วนกระข่าวการปรับ ครม.นั้น นายบรรหาร กล่าวว่า ตนเองไม่รู้ แต่การจะทำอะไรอยู่ที่ผู้ใหญ่เขาจะพูดกัน ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า รมว.เกษตรฯให้ข้อมูลน้ำที่ผิดพลาดนั้น ตนเองไม่ขอพูด เดี๋ยวก็โต้กันไปมาก ใครเป็นคนพูด หาตัวคนพูดได้หรือไม่ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรตนเองไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องผู้ใหญ่จะพูดกัน ส่วนเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลนั้นต้องไปถามฝ่ายค้าน ตนเองตอบแทนไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องไปทำประชามติประชาชน ความเชื่อมั่นของรัฐบาลไม่น่าจะคลายลงเพราะคนเสื้อแดงยังสนับสนุนเยอะ และเชื่อว่าจะดูแลรัฐบาลได้
"เขาคงไม่ทำอะไรผลีผลาม ของอย่างนี้และยามวิกฤติอย่างนี้ ก็ต้องช่วยกัน อย่าไปโทษกันเลย สื่อก็ต้องช่วยด้วย" นายบรรหาร กล่าว
นายบรรหาร กล่าวว่า นายกฯเป็นคนรอบคอบ ต้องฟังหลายฝ่ายก่อนตันสินใจ ถ้าเร็วเกินไปก็จะมีปัญหา ท่านก็เด็ดขาดอยู่ เท่าที่ตนเองดูก็ไม่พลาด ทำงานทั้งวันทั้งคืนด้วย ถ้าเป็นตนเองก็หน้าเหี่ยวตาย แต่นี่นายกฯยังยิ้มแย้มแจ่มใส
นายบรรหาร กล่าวว่า หลังน้ำลดควรต้องมาพิจารณาแนวทางป้องกันอุทกภัยไม่ให้สร้างความเสียหายเช่นนี้อีก โดยเห็นว่าในระยะเร่งด่วนทำได้ทำได้ 1-2 ปี คือการสร้างคันกั้นน้ำรักษาชุมชนเมือง เหมือนจังหวัดอ่างทอง โดยที่อยุธยาก็ต้องทำคันกั้นน้ำรอบเกาะเมือง และในจุดต่างที่ล่อแหลม และควรมีการขุดคลองเพื่อผันน้ำเจ้าพระยาออกทะเล เป็นเจ้าพระยาสายที่สอง และในส่วนของแม่น้ำสะแกกรังก็จำเป็นต้องมีการสร้างเขื่อนแม่วงศ์ รวมทั้งตัดคลองลัดแม่น้ำท่าจีนเหมือนคลองลัดโพธิ์เพื่อร่นระยะทางเดินของน้ำลงสู่ทะเลโดยเฉพาะในช่วง จ.นครปฐมลงมา ส่วนบริเวณฟรัดเวย์ด่านตะวันออกนั้นก็ควรไปดูว่าพื้นที่ไหนที่เป็นเส้นทางให้น้ำผ่านและมีอุปสรรคอย่างไร เพื่อที่จะได้แก้ไขทั้งหมด