(เพิ่มเติม) "อภิสิทธิ์"ตั้ง 4 ข้อสังเกตจัดงบ'55 ไม่สอดคล้องสถานการณ์-ขาดการจัดลำดับ

ข่าวการเมือง Wednesday November 9, 2011 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 โดยตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลไว้ 4 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงของเศรษฐกิจ 2.การนำเสนอรายละเอียดงบประมาณและการดำเนินการของรัฐบาลขาดความชัดเจนด้านการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจระยะกลาง หลังผ่านพ้นวิกฤติอุทกภัย

3. รัฐบาลไม่ได้จัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยยังมีการจัดสรรแบบเดิมๆ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดภาระใน 1-2 ปีข้างหน้า และ 4. เงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรร 1.2 แสนล้านบาท จะทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพในการใช้จ่าย

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุล 4 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาล และสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาลทางพรรคเพื่อไทยมีการคัดค้านการจัดสรรงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลที่แล้ว แต่พอมาเป็นรัฐบาลกลับต้องกู้ยืม

"รัฐบาลจะต้องชี้แจงอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า ทำไมเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วต้องกู้ยืม และมากกว่าที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ กำหนดกรอบไว้" นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า หากจะอ้างว่าต้องกู้เงินเนื่องจากมีภาวะน้ำท่วมนั้น ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยขณะนั้น -7% ขณะที่จากเอกสารงบประมาณของรัฐบาลประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเป็น +4% และหลังจากมีการปรับประมาณการจากภาวะน้ำท่วมแล้วก็ยังคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ซึ่งยังเป็นบวกอยู่ ดังนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกู้

หากจะอ้างว่าต้องกู้เงินเพื่อใช้ในการฟื้นฟูน้ำท่วม ในงบประมาณดังกล่าวมี 2 ส่วนแล้ว คือ การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ งบประมาณ จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท และ การเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ งบประมาณ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นอีก 2.3 แสนล้านบาทที่ต้องกู้มาเพื่ออะไร

นายกรณ์ ได้กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลยุตินโยบายลดภาษีนิติบุคคล 1 ปี ซึ่งจะทำให้มีเงินกลับมา 1 แสนล้านบาท ทำให้กู้ยืมน้อยลง และสามารถตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็ก และประชาชนที่สำลักน้ำอยู่ได้

นอกจากนี้ ควรยกเลิกนโยบายที่เรียกว่าผิดกาลเทศะ อย่างนโยบายรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก โดยผลักออกไปอีก 1 ปี และอธิบายให้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้เข้าใจ เพื่อนำมาฟื้นฟูประเทศ และนำเม็ดเงินมาจ้างงานผู้ตกงานแทน

อีกทั้งขอให้รัฐบาลโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณ อย่าเอาหนี้ไปซุกไว้ที่อื่น และกำหนดแผนบริหารจัดการด้านการคลังของประเทศให้ชัดเจนว่าใน 2-3 ปี จะบริหารการเงินการคลังของประเทศอย่างไร เพื่อให้คนไทยและนักลงทุนเห็นภาพชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ