นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การที่ ส.ว. เตรียมล่ารายชื่อเสนอคัดค้าน พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ เพื่อยื่นต่อองคมนตรีและสำนักราชเลขาในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย.นี้ ถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่า การออก พ.ร.ฎ. ถือเป็นหน้าที่และเป็นอำนาจของรัฐบาล ซึ่งออกไปตามปกติ และเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนที่ยังเป็นข้อถกเถียงเรื่องสาระบางประการ และอาจจะเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งของมวลชนสองฝ่าย หากรัฐบาลพิจารณาและเล็งเห็นถึงความสำคัญก็ควรจะทบทวน เพื่อป้องกันไม่ให้มวลชนออกมาปะทะกันได้
สำหรับกลุ่มคัดค้านการออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เพราะมองเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดำเนินคดี ขณะที่การออกกฎหมายโดยปกติต้องเป็นไปเพื่อประชาชนทั่วไป ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่ง หากกลุ่มคัดค้านยังคงมีความคิดที่ไม่พ้นหรือวนเวียนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะทำให้เกิดการชุมนุมได้ แต่อีกประเด็นหนึ่ง นักโทษ 2.6 หมื่นคนจะได้รับอานิสงส์จากเรื่องดังกล่าวด้วย
"ตอนนี้ผมยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ก็มีประชาชนที่เป็นญาตินักโทษซึ่งเข้าข่ายจะได้รับพระราชทานอภัยโทษได้เข้ามาสอบถามว่าอาจจะทำให้นักโทษในเรือนจำภูเขียว ที่จะได้ประโยชน์กว่า 100 คน ได้รับผลกระทบหรือไม่" นายเจริญ กล่าว