เอแบคโพลล์ชี้ปชช.ส่วนใหญ่เชื่อมีทุจริตถุงยังชีพ,ให้รัฐแบงบช่วยน้ำท่วม

ข่าวการเมือง Sunday November 27, 2011 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การอภิปรายการทุจริตถุงยังชีพในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม ฉะเชิงเทรา มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย อุตรดิตถ์ เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบุรี ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,303 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 24 — 26 พฤศจิกายน 2554 เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่ามีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการทุจริตถุงยังชีพหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 คิดว่ามีนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง มีเพียงร้อยละ 19.7 ที่ไม่คิดว่ามีนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานและคณะบุคคลในการตรวจสอบถุงยังชีพ พบว่าร้อยละ 66.3 เชื่อมั่นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รองลงมาคือ ร้อยละ 61.7 เท่ากัน คือ ระบุเชื่อมั่นต่อ DSI : (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) และ ปปช ภาคประชาชน ร้อยละ 60.9 ระบุเชื่อมั่นต่อปปง : (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) และสื่อมวลชน ในขณะที่หน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริตถุงยังชีพโดยตรงอย่างปปช : (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ได้ร้อยละ 60.2 และ ร้อยละ 54.2 ระบุเชื่อมั่นต่อป.ป.ท. : (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ตามลำดับ

แต่ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.1ระบุต้องการให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแต่ละพื้นที่ต่อสาธารณะชน ในขณะที่ร้อยละ 2.9 ระบุไม่ต้องการ

เมื่อสอบถามถึงปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ประชนไม่กล้าออกมาแจ้งเบาะแสการทุจริตคอรัปชั่น พบว่า ร้อยละ 76.1 ระบุกลัวไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและคนในครอบครัว รองลงมาคือ ร้อยละ 58.1 กลัวถูกเปิดเผยข้อมูล เช่น ชื่อคนแจ้ง ร้อยละ 56.3 กลัวไม่ได้รับความช่วยเหลือ ร้อยละ 53.5 ระบุไม่เคยเห็นการลงโทษที่ชัดเจน ร้อยละ 46.0 ระบุคิดว่าไม่เกิดประโยชน์ในการแจ้ง ร้อยละ 28.2 ระบุคิดว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติใครๆ ก็ทำกัน และ ร้อยละ 22.3 ระบุคิดว่าไม่ใช่ธุระของตนเอง ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 78.4 ระบุว่าไม่มีผลถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาล และร้อยละ 21.6 ระบุว่ามีผลถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาล

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจระบุชัดเจนว่าประชาชนเชื่อว่ามีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ถุงยังชีพ ดังนั้นกระแสข่าวที่ออกมาว่าเป็นความผิดของข้าราชการเพียงฝ่ายเดียวนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชนต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ