In Focus"พม่า" กับการผ่าตัดประเทศขนานใหญ่ และเปิดประตูรับเพื่อนใหม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 30, 2011 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพม่าในสายตาต่างชาติ อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในขั้นติดลบ ทั้งจากปัญหาสิทธิมนุษยชน ยาเสพติด ไปจนถึงการปกครองเผด็จการโดยรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า พม่ากำลังพยายามแก้ไขมุมมองดังกล่าวเสียใหม่

ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

7 พ.ย. 2553 - พม่าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี

13 พ.ย. 2553 - ออง ซาน ซู จี ได้รับอิสรภาพหลังจากต้องโทษกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลานานถึง 15 ปี ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา

30 มี.ค. 2554 - รัฐบาลทหารพม่าถ่ายโอนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

14 ส.ค. 2554 - ออง ซาน ซู จี ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากกรุงย่างกุ้งได้เป็นครั้งแรก

19 ส.ค. 2554 - ออง ซาน ซู จี เข้าพบประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่กรุงเนปิดอว์

6 ต.ค. 2554 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้รับการจัดตั้งขึ้น ขณะที่เริ่มมีการผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์สื่อและการนำเสนอข่าว

12 ต.ค. 2554 - นักโทษการเมือง 230 คนได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนิรโทษกรรมนักโทษ 6,359 คน

13 ต.ค. 2554 - กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ผ่านการลงมติ เปิดทางผู้ใช้แรงงานในพม่าจัดตั้งสหภาพแรงงาน พร้อมเพิ่มสิทธิในการชุมนุมและผละงานประท้วงของคนงาน

*รางวัลตอบแทน

ในขณะที่หลายฝ่ายยังไม่สามารถเชื่อได้สนิทใจว่า ความเคลื่อนไหวข้างต้นของพม่ามีนอกมีใน หรือจะดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ แต่อย่างน้อย ความพยายาม “ปรับปรุงตัว" ดังกล่าวก็ได้รับการตอบแทนจาก “เพื่อน" อย่างประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2554 ในระหว่างการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย บรรดาผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองพม่าทำหน้าที่ประธานกลุ่มในปี 2557 โดยให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในพม่า หลังจากที่เมื่อปี 2549 พม่าได้ตกลงสละสิทธิ์การดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียน เพราะสมาชิกบางประเทศหวั่นเกรงว่า หากรัฐบาลพม่า ซึ่งในขณะนั้นปกครองโดยทหาร ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม ก็อาจจะส่งผลต่อจุดยืนของอาเซียนบนเวทีโลก

อีกหนึ่งเสียงที่ขานรับการปฏิรูปพม่าตามมาติดๆ ก็คือพี่เบิ้มอย่าง สหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศว่า จะส่งนางฮิลลารี คลินตัน เดินทางเยือนพม่า นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐจะได้ย่างเท้าลงบนดินแดนเพื่อนบ้านของไทยแห่งนี้

*ช้างนำโชค

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา พม่าได้จัดงานสมโภชรับขวัญช้างเผือก 2 เชือกที่เพิ่งจับได้ไม่นานมานี้ ณ พระเจดีย์อุปปาตะสันติ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวง โดยมีรองประธานาธิบดี จายหมอกคำ ของพม่าเข้าร่วมในพิธี ท่ามกลางความปลื้มปีติของรัฐบาลพม่า เนื่องจากช้างเผือกซึ่งเป็นสัตว์ที่หายาก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี อำนาจ และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ของพม่ากับประชาคมโลกที่ดูเหมือนว่าจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่พม่าเพิ่งได้รับไฟเขียวให้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน สหรัฐส่งรมว.ต่างประเทศเยือนพม่า และนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศเช่นกันว่าจะเดินทางเยือนพม่าอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

*ความหวังใหม่

การที่พม่าได้รับการรับรองให้นั่งเก้าอี้ประธานหมุนเวียนอาเซียนในปี 2557 ได้จุดประกายความหวังให้กับประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวมานานกว่าครึ่งศตววรษแห่งนี้

U Myat Thin Aung สมาชิกคณะกรรมการบริหารกลางของสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพพม่า กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนถือเป็นเกียรติ พร้อมระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพม่าจะเปิดกว้างขึ้นอีกมาก และประเทศจะพัฒนามากขึ้น

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ U Khin Maung Nyo ระบุว่า การที่พม่าได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนภายใต้แรงกดดันจากโลกภายนอกนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของอาเซียน และยังบ่งชี้ว่า พม่าต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการในภูมิภาคมากขึ้น

ขณะที่ Dr. Aye Maung สมาชิกสภาสูง และประธานพรรคพัฒนาแห่งชาติยะไข่ (RNDP) แสดงความยินดีที่พม่าจะได้เป็นประธานอาเซียน พร้อมระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยให้กระบวนการประชาธิปไตยของพม่าก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังผลักดันการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศด้วย โดยพม่าจะเปิดกว้างมากขึ้นในแง่ของสื่อมวลชน และจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นมาก

U Kyaw Hsan รมว.วัฒนธรรมและสารสนเทศของพม่ากล่าวว่า การเป็นประธานอาเซียนจะช่วยให้ประเทศมีส่วนร่วมในกิจการภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น

*โอกาสและความท้าทาย

นางฮิลลารี คลินตัน จะเดินทางเยือนพม่าในระหว่างวันพุธที่ 30 พ.ย. - วันศุกร์ที่ 2 ธ.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นรมว.ต่างประเทศสหรัฐคนแรกในรอบ 57 ปี นับตั้งแต่นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส เมื่อปีพ.ศ.2498 ในช่วงสามวันนี้ นางคลินตันจะไปยังกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวง และกรุงย่างกุ้ง เมืองใหญ่สุดของประเทศ โดยจะเข้าพบประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆของรัฐบาลพม่า ตลอดจนบุคคลสำคัญอย่างนางซูจี และตัวแทนจากภาคประชาสังคม

“ปธน.โอบามาแสดงความเห็นที่เป็นบวกเกี่ยวกับพัฒนาการของพม่าในช่วงที่ผ่านมานี้" ปธน.เต็ง เส่ง กล่าวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศนอกรอบประชุมที่บาหลี ซึ่งเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนมี.ค. “ข้อเท็จจริงที่ว่า ปธน.โอบามายอมรับการพัฒนาต่างๆที่เกิดขึ้นประเทศของเราถือเป็นเรื่องดีมาก และผมสามารถพูดได้ว่านี่เป็นข่าวมงคล"

ดูเหมือนรัฐบาลพม่ากำลังตั้งความหวังว่า การมาเยือนของแขกระดับบิ๊กอย่างนางฮิลลารี คลินตัน จะถือเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการยอมรับต่อการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศ และช่วยยุติการโดดเดี่ยวพม่าจากประชาคมโลกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในสายตาของนักเคราะห์นั้น มองว่า เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้จะนำมาทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับรัฐบาลพม่า

โดยแม้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ใช่ว่าการมาเยือนของนางคลินตันจะนำไปสู่การยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรพม่าได้อย่างรวดเร็วทันใจ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐยังคงจับตาดูการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงความมุ่งมั่นของพม่าที่จะปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตย

“เรายังไม่มีแผนยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าในตอนนี้" เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐกล่าว “ผมคิดว่า มันยังเร็วเกินไปที่จะหารือเรื่องการยกเลิกมาตรการลงโทษ"

ข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับที่นางคลินตันได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์สหรัฐเมื่อเร็วๆนี้ โดยเธอได้ปฏิเสธการยกเลิกคว่ำบาตรพม่าเช่นกัน พร้อมทั้งระบุถึงสิ่งที่รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น

"พม่าต้องปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด ต้องหาวิธีแก้ไขความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นปมปัญหาใหญ่ที่บีบบังคับให้ประชาชนนับแสนคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือเป็นแรงงานอพยพ นอกจากนี้ พม่าต้องมีระบบการเลือกตั้งที่แท้จริงที่ให้สิทธิพรรคการเมืองทุกพรรคและให้เสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น" คลินตันให้สัมภาษณ์กับสถานี MSNBC

จุดยืนของรมว.ต่างประเทศสหรัฐและเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆของคณะบริหารของปธน.โอบามา บ่งชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังเฝ้ามองอย่างระมัดระวังว่า ปธน.เต็ง เส่ง จะสามารถดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

Thura Shwe Mann ประธานสภาล่างของพม่า กล่าวว่า เหนือสิ่งอื่นใดนั้น สิ่งที่พม่าหวังไว้เป็นอันดับแรกก็คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐให้เป็นปกติ ด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับเอกอัครราชทูต

ทั้งนี้ สหรัฐประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรพม่าเป็นครั้งแรกในปี 2531 หลังจากที่รัฐบาลทหารได้ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งนำโดยนักเรียน-นักศึกษา และนับแต่นั้น สหรัฐก็ได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพม่าเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ

*จีน VS สหรัฐ

ก่อนที่รมว.ต่างประเทศสหรัฐจะเดินทางเยือนพม่าเพียงไม่กี่วัน ปรากฏว่า จีนได้ชิงตัดหน้าประกาศกระชับความสัมพันธ์กับพม่าหน้าตาเฉย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา นายสี่ จิ้นผิง รองประธานาธิบดีของจีน และรองประธานคณะกรรมการกลางทางทหาร ผู้ได้รับการคาดหมายว่า จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนายหู จิ่นเทา ในปี 2556 ได้ให้การต้อนรับพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพพม่า ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง โดยนายสี่ได้กล่าวยืนยันว่า กองทัพจีนและพม่ายกระดับการแลกเปลี่ยน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะพันธมิตรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

"จีนกับพม่ามีความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำรุ่นก่อน และจะมั่นคงต่อเนื่องในเวทีโลกในอนาคต" ว่าที่ประธานาธิบดีจีนกล่าว

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแฝงนัยว่า จีนคงรู้สึกหนาวๆร้อนๆกับการที่พม่าเปิดบ้านต้อนรับสหรัฐอเมริกาไม่มากก็น้อย หลังจากที่เมื่อไม่นานมานี้ จีนต้องหน้าหงายมาแล้ว เมื่อทางการพม่าได้ระงับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมิตซง (Myitsone) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ไชน่า เพาเวอร์ อินเวสต์เมนท์ บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำอิรวดี โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จีน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าพม่าได้ท้าทายอิทธิพลของจีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญเป็นครั้งแรก และอย่างที่ไม่เคยมีใครหน้าไหนกล้าทำมาก่อน

ขณะเดียวกัน การที่ปธน.โอบามาประกาศส่งนางคลินตันเยือนพม่า ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนได้แผ่อิทธิพลมหาศาลในสมัยที่รัฐบาลทหารยังปกครองประเทศอยู่นั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างไม่ปิดบังซ่อนเร้นไปยังรัฐบาลจีนว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังหมายมั่นปั่นมือที่จะบั่นทอนแสนยานุภาพของจีนที่ปกคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอยู่ ณ เวลานี้

ขณะที่ทางฝ่ายพม่าเองนั้น ปธน.เต็ง เส่ง ได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวพม่าในเมืองบาหลี เมื่อวันที่ 19 พ.ย. โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เขาระบุว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพม่าที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ที่ผ่านมา เราได้เปิดเศรษฐกิจของเราเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่มาตรการคว่ำบาตรทำให้แทบไม่มีการลงทุนเข้ามา" เขากล่าว

ทั้งนี้ แม้จะเป็นประเทศยากจน แต่พม่าก็อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ไม้ ดีบุก สังกะสี ทองแดง และอัญมณี โดยเศรษฐกิจของพม่าขึ้นอยู่กับการส่งออกก๊าซธรรมชาติ สินค้าเกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ และสิ่งทอ สำหรับประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของพม่าได้แก่ จีน อินเดีย และไทย ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่า

ขณะที่การลงทุนในพม่ามีศูนย์กลางอยู่ที่การผลิตก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาสู่ระดับ 1.21 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2553 โดยประมาณ 1 ใน 10 ของปริมาณดังกล่าวเป็นการลงทุนของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่สุดของเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์ป ยังได้เริ่มต้นการสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซทั่วประเทศพม่า

อย่างไรก็ดี ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า การเดินทางเยือนพม่าของนางคลินตันอาจเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทจากตะวันตกสามารถกลับเข้าไปทำธุรกิจในพม่าได้อีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้นักลงทุนจากจีน อินเดีย และไทยนำหน้าไปไกลด้วยการลงทุนกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมท่าเรือ โรงไฟฟ้า และท่อส่งน้ำมันและก๊าซ โดยอาศัยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของพม่า และทำเลที่ตั้งในมหาสมุทรอินเดียซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทต่างๆ อาทิ เป๊ปซี่โค อิงค์, ลีวาย-สเตราส์ แอนด์ โค และ แอปเปิล อิงค์ จำต้องถอนธุรกิจออกจากพม่าในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตร การผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองครั้งนี้อาจจะนำไปสู่การเปิดไฟเขียวให้บริษัทสหรัฐเข้าถึงตลาดพม่าที่มีประชากรอยู่ 62 ล้านคนก็เป็นได้

นักสังเกตการณ์หลายรายกำลังจับตาดูว่า พม่าจะหมางเมิน "เพื่อนเก่า" อย่างจีน และหันไปเห่อ “เพื่อนใหม่" ด้วยการเดินหน้าปฏิรูปนโยบายต่างๆต่อไปเพื่อเอาใจสหรัฐหรือไม่ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และเป็นการยุติการโดดเดี่ยวพม่าจากโลกภายนอกที่ดำเนินตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ ตลอดจนกระแสคาดการณ์ที่ว่า พม่าอาจหันไปรับรูปแบบการเมืองแบบตะวันตก โดยเขาได้ออกมาแสดงความเห็นว่า “ผมคิดว่าเราไม่มีวันที่จะเทียบประเทศตะวันตกได้ในประเด็นเหล่านี้ อย่างไรก็ดี เราควรพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศของเรา"

... แต่จะเป็นได้อย่างที่พูดหรือไม่นั้น โลกกำลังรอการพิสูจน์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ