In Focusการเมืองรอบโลกปีกระต่าย ตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือเดือด พม่าปรับโฉม

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 14, 2011 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาพการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายมุมโลกยังคงเป็นข่าวคราวที่ปรากฏขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปีจนถึงท้ายปีกระต่าย บางเหตุการณ์ก็รุนแรงถึงขั้นนองเลือด บางเหตุการณ์ก็ยืดเยื้อ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

แต่ก็มีเช่นกันที่สถานการณ์กลับตาลปัตรแตกต่างไปจากประเทศเหล่านั้น หลังจากที่ปิดงำประเทศมาเนิ่นนาน การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นในพม่า ประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาไม่รู้กี่สมัยต่อกี่สมัย นอกเหนือไปจากพม่าแล้ว แดนซากุระก็ยังคงเป็นอีกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯกันเป็นว่าเล่น

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอย้อนรอยกับเหตุการณ์บ้านเมืองทั่วโลกประจำปีกระต่ายให้เราๆท่านๆได้สัมผัสถึงประสบการณ์ทางการเมืองที่ผู้คนต่างถิ่นต่างแดนต้องเผชิญ

อียิปต์: เมื่อเหตุประท้วงลุกลามออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง

อียิปต์ต้องเผชิญกับเหตุประท้วงและเหตุจลาจลครั้งใหญ่จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี หลังจากที่เกิดเหตุประท้วงใน ตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านก่อน และดูเหมือนว่า การประท้วงผู้นำประเทศที่กดขี่ประชาชนมาเป็นเวลานาน จะเป็นเชื้อเพลิงที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงได้เป็นอย่างดีในอียิปต์ ซึ่งมีประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค บริหารประเทศมาเป็นเวลานานเช่นกัน

ชาวอียิปต์ได้เผยแพร่ข้อความเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ให้ประชาชนหยุดงานประท้วงรัฐบาล โดยระบุว่าเป็นการปฏิวัติเพื่อต่อต้านความยากจน การทุจริต และการว่างงาน

ผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนได้มารวมตัวกันตามนัดหมายที่กรุงไคโร และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารัคลาออก จัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการสนับสนุนของประชาชน

ในที่สุดประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ก็ยอมลงจากอำนาจ แต่ใช่ว่าขวากหนามจะสิ้นสุดลง เนื่องจากนายพลฮุสเซน ตันตอวี ผู้นำสภาสูงสุดแห่งกองทัพอียิปต์ ซึ่งทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการหลังสิ้นยุคของมูบารัคส่อแววว่า จะใช้อำนาจในการปกครองตามแนวของนายมูบารัค ส่งผลให้เกิดการประท้วงกันอีกรอบ แต่การประท้วงครั้งนี้ รุนแรงกว่าครั้งก่อนและยืดเยื้อติดต่อกันหลายวันจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยกำลังรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,250 คน

อย่างไรก็ดี ชาวอียิปต์ได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี หลังจากที่มีการดำเนินการเพื่อถ่ายโอนอำนาจ แต่การถ่ายโอนอำนาจครั้งนี้ยังขาดความชัดเจนและแน่นอน เนื่องจากกองทัพก็ยังไม่อยากจะปล่อยให้อำนาจหลุดมือเท่าไรนัก โดยมีการใช้กลยุทธ์ต่างๆนานา จึงไม่แน่ว่าการถ่ายโอนอำนาจครั้งนี้จะเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชนที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมาเป็นเวลานานหรือไม่

ลิเบีย: ในวันที่ไร้เงา “กัดดาฟี"

เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในลิเบีย หนึ่งในประเทศสมาชิกโอเปคที่อุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรน้ำมันนั้น ได้ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือดและยืดเยื้อไปทั่วประเทศมาตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ.จนถึงเดือนต.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งประชาชนที่ลุกฮือประท้วงเพื่อเรียกร้องให้นายกัดดาฟีลงจากตำแหน่งและกลุ่มผู้สนับสนุนนายกัดดาฟี

ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐบาล นานาประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ไม่พอใจกับการใช้กำลังรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง ทั้งที่ผู้ประท้วงเหล่านี้ได้เรียกร้องตามสิทธิที่พึงมี เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานจนลืมที่จะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติและประชาชนทำหน้าที่ต่อไป

พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 41 ปี ต้องสังเวยชีวิตให้กับกองกำลังฝ่ายสภาถ่ายโอนอำนาจ หรือ เอ็นทีซี ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ

ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต กัดดาฟี ขู่เปิด "สงครามนองเลือด" หากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าแทรกแซงกิจการภายในของลิเบีย พร้อมกับประกาศว่า ตนเองจะไม่ยอมแพ้ต่อกองกำลังของนาโต้ และพร้อมตายทุกขณะ

การลั่นวาจาครั้งนั้น ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะและประท้วงในลิเบียเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ สมาพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงปารีสเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลพุ่งแตะ 6,000 ราย

สำนักข่าวซินหัววิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังสิ้นกัดดาฟีว่า การเมืองที่ขาดเสถียรภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ตกอยู่ในสภาพอันสาหัสสากรรจ์ ทำให้ลิเบียมีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอีกมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนชาวลิเบียต้องทนทุกข์กันต่อไปอีกนาน หลังจากที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์รุนแรงมาแล้ว 6 เดือน

ปากีสถาน : ปฏิบัติการสังหาร “บิน ลาเดน"

ช่วงสายของวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา สื่อทั่วโลกต่างรายงานข่าวการเสียชีวิตของนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำเครือข่ายอัล-กออิดะห์ ตามมาด้วยการแถลงข่าวของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ จากทำเนียบขาวเพื่อยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐได้สังหารนายโอซามา บิน ลาเดน ที่ประเทศปากีสถาน และได้นำศพของนายบิน ลาเดน ไว้ในอารักขาแล้ว

ภายหลังข่าวดังกล่าวได้แพร่สะพัดออกไป ทั่วโลกต่างเคลื่อนไหวในทันที โดยเฉพาะสหรัฐที่ออกประกาศเตือนชาวอเมริกันเรื่องการเดินทางไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มการเตือนภัยตามฐานทัพทั่วประเทศ โดยองค์การตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพลได้ออกแถลงการณ์เตือนประเทศสมาชิกให้ระมัดระวังเป็นพิเศษกับการตอบโต้ที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่อินเดียมองว่า การสังหารนายโอซามา บิน ลาเดน ด้วยฝีมือของสหรัฐเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของการทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้าย ส่วนนายบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า การเสียชีวิตของนายบิน ลาเดนเป็น "จุดเปลี่ยนสำคัญของประชาคมโลกในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย"

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็น "การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ" ในการต่อต้านก่อการร้าย

ปฎิบัติการสังหารครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างสิ้นสุดลงตามไปด้วย กลุ่มอัล-กออิดะห์ได้แต่งตั้งนายไอยมาน อัล-ซาวาฮีรี ผู้นำคนใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ขณะที่คู่กรณีอย่างสหรัฐและปากีสถานต่างก็ออกมาสาธยายถึงสาเหตุเบื้องหลังต่างๆนานา ซึ่งเป็นการเปิดเผยมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของแต่ละฝ่าย

โดยสหรัฐได้อธิบายถึงสาเหตุที่ไม่ได้มีการเปิดเผยถึงปฏิบัติการลับครั้งนี้ให้กับปากีสถานรับทราบว่า เกรงว่าข้อมูลจะรั่วไหลและทำให้เป้าหมายรู้ตัวล่วงหน้าได้ ขณะที่ปากีสถานก็ระบุว่า ปากีสถานไม่ได้จัดหาสถานที่พักพิงเพื่อหลบภัยให้กับนายบิน ลาเดนแต่อย่างใด ทั้งที่สถานที่หลบภัย ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองอับโบตาบัดนั้นตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งของวิทยาลัยการทหารที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำการและมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ออกไปเพียง 100 เมตร

พม่า: ออง ซาน ซู จี กับอิสรภาพที่ทั่วโลกรอคอย

ออง ซาน ซูจี ในอ้อมแขนแห่งเสรีภาพที่เริ่มจะเบ่งบานในพม่า ทำให้ภาพลักษณ์ของพม่าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น นับตั้งแต่ที่พม่าได้จัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี การให้อิสระแก่สตรีผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ผู้แทนทางการทูตจากประเทศและองค์กรต่างๆเยือนประเทศ ล้วนแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์อันดีของพม่า

โดยเฉพาะการเดินทางเยือนพม่าของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเมื่อเร็วๆนี้ โดยนางคลินตัน ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการการเมืองมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังได้เดินสายไปทั่วโลกและได้มีโอกาสพบกับผู้นำประเทศต่างๆมานับไม่ถ้วน อดยอมรับไม่ได้ว่า การได้พบกับนางซูจีครั้งนี้เป็นสิ่งที่เธอยินดีและตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนหน้าที่รมว.ต่างประเทศสหรัฐจะเดินทางเยือนพม่า ซึ่งในอดีตอาจเรียกได้ว่าเป็น 2 ประเทศคู่รักคู่แค้นนั้น นางซูจี เปิดเผยว่า เธออาจลงสมัครเลือกตั้งซ่อมซึ่งจะจัดขึ้นในอีกไม่นานนี้

ล่าสุด นสพ.ของรัฐบาลพม่ารายงานว่า คณะกรรมการเลือกตั้งของพม่าจะได้พิจารณารายละเอียดของพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจีรวมทั้งแกนนำของพรรคในเร็วๆนี้ และคาดว่า จะอนุมัติให้มีการจดทะเบียนพรรคได้อย่างเป็นทางการภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น

แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพม่า แต่หลายฝ่ายก็ยังคงตั้งความหวังกับเรื่องการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการดำเนินการกับกลุ่มความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอนาคต

ญี่ปุ่น: “โยชิฮิโกะ โนดะ" นายกฯคนที่ 6 ในรอบ 5 ปีของแดนซากุระ

นายโยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง วัย 54 ปี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) ณ วันที่ 29 สิงหาคม ส่งผลให้เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่คนที่ 6 ของญี่ปุ่น ในรอบ 5 ปี ต่อจากนายนาโอโตะ คัง ที่คะแนนสนับสนุนร่วงเอาๆ เพราะไม่สามารถฟื้นฟูประเทศจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมี.ค.ได้ถูกใจประชาชน มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ

นายโนดะได้มีโอกาสทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อเดือนมิ.ย. 2553 ต่อจากนายนาโอโตะ คัง ที่กำลังจะก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านั้น โนดะได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบสำนักประชาสัมพันธ์ของพรรคดีพีเจ และเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการรัฐสภา จนกระทั่งเมื่อพรรคดีพีเจขึ้นครองอำนาจในสภาไดเอทเมื่อเดือนกันยายน 2552 นายโนดะจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จนกระทั่งได้กลายเป็นรัฐมนตรีคลังอายุน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจล่าสุดของสำนักข่าวเกียวโด ชี้ว่า คะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ดิ่งลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 47.1% ขณะที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องการให้จัดเลือกตั้งทั่วไปก่อนที่รัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายเพิ่มภาษีการบริโภคในปีหน้า

ปัจจุบัน รัฐบาลและพรรคดีพีเจกำลังเตรียมร่างกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการปฏิรูประบบประกันสังคมและระบบภาษี หลังจากที่นายโนดะได้เคยให้คำมั่นว่าจะจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อค่อยๆขึ้นภาษีการบริโภคจาก 5% ในปัจจุบันเป็น 10% ภายในปี 2558 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการประกันสังคมจะมีเงินทุนในระยะยาว

ขณะที่รัฐบาลและพรรคแกนนำรัฐบาลได้ตกลงในรายละเอียดต่างๆ อย่างเรื่องกำหนดเวลาการขึ้นภาษีภายในปีหน้าแล้ว พรรคฝ่ายค้านเองได้ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนที่จะมีการโหวตร่างกฎหมายขึ้นภาษีการบริโภค เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ นอกจากบรรดาพรรคฝ่ายค้านแล้ว สมาชิกจำนวนมากในพรรคดีพีเจของนายโนดะเองก็ดูไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าวอย่างเต็มที่เท่าไรนัก

นายกฯคนล่าสุดแห่งแดนซากุระจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อต้องรับศึกหนักไม่แพ้นายกฯคนก่อนๆ ทั้งการเมืองภายในพรรคและนอกพรรค อีกทั้งคะแนนนิยมที่เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลง

อิตาลี: “ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี" ไป “มาริโอ มอนติ"มา

"ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี" นายกรัฐมนตรีอิตาลี มหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลดังอย่างเอซี มิลาน ต้องออกมาประกาศว่า จะลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่นำพาประเทศมายืนเฉียดขอบเหวด้วยภาระหนี้สินมหาศาลจนประเทศพันธมิตรในยุโรปออกแรงกดดันให้รีบปฏิรูปการคลังและเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลีเคยพุ่งขึ้นถึง 6.67% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 ส่งผลให้อิตาลีกลายเป็นศูนย์กลางของวิกฤติหนี้ยูโรโซน นอกจากนี้ ความผันผวนทางการเมืองก็ฉุดรั้งอิตาลีเข้าสู่วิกฤติหนี้เป็นประเทศที่ 4 ต่อจากกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส

ด้วยแรงกดดันที่รุมเร้าจากพรรคฝ่ายค้านและประเทศพันธมิตรในยุโรป ในที่สุด แบร์ลุสโคนีก็ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ภายหลังจากที่หลังรัฐสภาอิตาลีไฟเขียวกฎหมายปฏิรูปงบประมาณประจำปี ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยลดกระแสความวิตกกังวลที่ว่าอิตาลีอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้

ประธานาธิบดี จอร์โจ นาโปลีตาโน ของอิตาลี ได้แต่งตั้งให้นายมาริโอ มอนติ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยุโรปเข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลชั่วคราว เนื่องจากนายมอนติเป็นนักการทูตและมีความสัมพันธ์อันกว้างขวางในสหภาพยุโรป ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยให้อิตาลีสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

การเมืองทั่วโลกปีกระต่ายยังคงร้อนแรงไม่แพ้ปีไหนๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มผู้นำประเทศที่ตามมาด้วยเหตุการณ์รุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานจนทำให้ผู้นำบางรายต้องยอมลงจากอำนาจ แต่บางรายถึงกับยอมตายหากจะต้องคืนอำนาจ

ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายๆก็ยังมีความคืบหน้าในทางที่ดีในอีกซีกโลกที่ไม่มีใครคิดว่า ในที่สุดวันนั้นจะมาถึง ภาพนางอองซาน ซูจี ผู้ซึ่งหวนคืนสู่อ้อมแขนแห่งอิสรภาพ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ แม้จะไม่มากแต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีส่งท้ายปี ส่วนการเมืองปีงูใหญ่จะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ