นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิในการรักษาพยาบาลนั้น เนื่องจากแบบเดิมได้ใช้การประกันสุขภาพกลุ่มให้กับผู้รับประกันในอัตราไม่เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ การรักษาไม่ครอบคลุมโรค รวมถึงมีขีดจำกัดเรื่องสถานพยาบาล ทำให้ต้องมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ เบื้องต้นนั้นได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้วได้ข้อสรุปว่า ส่วนสวัสดิการดังกล่าวนั้นควรยกให้เทียบเท่ากับข้าราชการ
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวค้างพิจารณามาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องที่พิจารณาหรือหยิบยกมานำเสนอใหม่ ทั้งนี้ภายหลังจากที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและปรับขึ้นเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการไปแล้วนั้นในส่วนของกรรมาธิการกิจการสภาฯ ยังได้พิจารณาประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภาต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสวัสดิการ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทาง
"ผลการพิจารณาครั้งก่อนได้พิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ไม่สามารถนำเสนอให้รัฐบาลชุดที่ผ่านมาพิจารณาได้ทัน เพราะต้องเชิญเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที เกี่ยวข้องมาอธิบายรายละเอียด และทำให้ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่แล้ว ประธานสภาฯ จึงได้ทำหนังสือยืนยันมติเดิม และนำเสนอให้ ครม.พิจารณา" นายพิทูร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง ครม.ได้อนุมัติในหลักการเท่านั้น ยังคงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งว่า หากการปรับเปลี่ยนสวัสดิการดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมายใดหรือไม่ และหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเสร็จจะต้องนำกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง สำหรับประเด็นค่าตอบแทนอื่นๆ และเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของประธานสภาฯ ที่ระบุว่าให้เท่ากับนายกฯ นั้น ตนเองไม่ทราบรายละเอียด