ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อายุ 51 ปี หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นจำเลยฐานดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีขึ้นเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง
โดยโจทก์ฟ้องและนำสืบว่า ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ค.51 จำเลยขึ้นเวทีปราศรัย ซึ่งมีการอภิปรายเกี่ยวกับการคัดค้านการรัฐประหารปี 49 ซึ่งโจทก์มีพยานเป็นนายตำรวจระดับสัญญาบัตรและชั้นประทวน 3 นาย ไปฟังการปราศรัยเป็นเวลานานและอยู่ใกล้ชิดกับจำเลย พร้อมบันทึกเสียงจำเลยลงในเครื่องเอ็มพี 3 รวม 3 ตอน พบว่ามีข้อความเปรียบเทียบ เปรียบเปรย จาบจ้วง ล่วงเกิน พระมหากษัตริย์ พระราชินี และประธานองคมนตรี โดยจำเลยให้การปฏิเสธว่าจำไม่ได้ว่าพูดอะไรไปบ้าง แต่ยอมรับว่าหลังการก่อรัฐประหารจำเลยได้ขึ้นเวทีพูดต่อต้านการปฏิวัติหลายครั้ง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อความจากเครื่องเอ็มพี 3 พบว่าเป็นเสียงของบุคคลคนเดียวกัน เป็นเสียงของจำเลย นอกจากนี้พยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเจตนาปรักปรำใส่ร้ายจำเลย ศาลได้พิจารณาจากข้อความทั้งหมดโดยละเอียดพบว่าจำเลยได้พูดด้วยลีลาและพูดซ้ำไปมาต้องการให้มีผู้ฟังมากๆ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่าบุคคลที่ถูกพูดเปรียบเปรยหมายถึงใคร จำเลยจบการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิตและปริญญาโทรัฐศาสตร์ เคยเป็นผู้สื่อข่าว ย่อมรู้ดีถึงระบอบการปกครองราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยย่อมมีเจตนาในขณะกระทำผิด พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยเจตนาดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รวม 3 ครั้ง เป็นความผิด 3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 15 ปี
ด้าน น.ส.ดารณี กล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้วว่า ตนเองไม่ติดใจที่จะต่อสู้คดีดังกล่าว จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา และไม่ขออภัยโทษ
ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยรวม 18 ปี แต่จำเลยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ที่ระบุว่า กฎหมายที่ใช้กับคดีนี้ขัดรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะศาลอาญาได้ใช้กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 117 ที่พิจารณาคดีลับ เป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีโดยพิจารณาลับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าให้ศาลชั้นต้นย้อนการพิจารณาใหม่ทั้งหมด ซึ่งศาลมีคำพิพากษาคดีใหม่ในวันนี้