น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"ว่า แผนเร่งรัดการจัดการบริหารน้ำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) คาดว่าจะเห็นในเดือนม.ค.เป็นแผนใหญ่โดยรวมก่อน เพื่อให้ต่างชาติเชื่อมั่นในการจัดการบริหารน้ำ และเชื่อว่าจีน ญี่ปุ่น ยังมั่นใจอยู่ เพราะเมืองไทยยังมีเสน่ห์ เอกลักษณ์ จิตใจคนไทยที่ต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ
โดยระยะสั้นดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมาโดยเร็วที่สุด ต้องทำงานแข่งกับเวลาและคิดไว้เผื่อหน้าฝนที่จะมาถึง ตลอดจนน้ำแล้งด้วย พร้อมสำรวจแนวคันกั้นน้ำด้วย โดยที่กยน.ต้องสร้างแผนมาดูแล ในการจัดการระยะยาว
"อยากเห็นเดือนนี้เป็นเดือนที่ฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม เพื่อถวายเป็นเดือนที่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สดในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"ที่ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่
นายกฯ กล่าวว่า บริหารงานมา 4เดือน ช่วง 3 เดือนแรกเร่งแก้น้ำท่วมความเดือดร้อนของประชาชน และหลังจากนี้จะมีการเร่งนโยบายรับจำนำข้าว มีการประกาศราคาออกมา โครงการบ้านหลังแรก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย โครงการพักหนี้เกษตรกร เร่งรัดให้กระทรวงการคลังดูแลส่วนลดหนี้ให้ประชาชน ส่วนด้านงบประมาณ ดูแลไม่ให้เป็นอุปสสรค อย่างงบประมาณบริหารจัดการน้ำ ตั้งไว้ 1.2 แสนล้านบาท ใช้ได้ 4 หมื่นล้านบาท ลงไปใช้แล้วทั้งการเยียวยาน้ำท่วม จ่ายพืชเกษตรประชาชนเสียหายน้ำท่วม และดูแลถนนที่สัญจรไม่ได้ ส่วนสร้างฟรัดเวย์ จะมีเงินจากในและต่างประเทศ
"ยอมรับว่าการบริหารบริษัทต่างกันกับบริหารประเทศ แต่ที่เหมือนกันคือทำให้คนมีส่วนร่วม บริษัททำงานเป็นทีม ส่วนบริหารประเทศ ต้องมีการวางแผนร่วมกัน และไปดำเนินการ"นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนการประเมินรัฐมนตรีเป็นไปตามหลักการบริหารต้องประเมิน ติดตามงานทุก 3 เดือน 6 เดือน ในภาพรวม และต้องเห็นใจติดเรื่องน้ำท่วม ส่วนตัวนายกฯเองก็ประเมินตัวเองไปด้วย ตามทีนโยบายแถลงไว้ต่อรัฐสภา คนที่ประเมินคือประชาชนมากกว่า ส่วนอุปสรรคที่ผ่านมา อย่างมองว่าเป็นปัญหา ต้องมองถึงว่าอุปสรรคเป็นทางแก้ปัญหา เพราะประชาชนเลือกมาให้เราแก้ปัญหา และนี่คือหน้าที่ ซึ่งตรงนี้ขอเวลาให้รัฐบาลบ้าง เราจะทำงานให้เต็มที่
ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจปีหน้าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างอ่อนไหว และมีผลกระทบเคลื่อนมาสู่ภูมิภาคเอเซีย ซึ่งไทยก็มีผลกระทบทางอ้อม ตรงนี้คงไปพึ่งต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้เข้มแข็ง ช่วยกันต่อยอดโดยการส่งเสริมประสิทธิภาพกำลังการผลิต ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรง