รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรับมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งเลื่อนจากปกติที่มีขึ้นทุกวันอังคารมาเป็นวันจันทร์แทน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจนำคณะเดินทางไปยังกรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 4
สำหรับวาระการประชุม ครม.ที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะเสนอขอความเห็นชอบอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะกลาง และระยะยาว จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อสำหรับการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเป็นวงเงินที่เพิ่มเติมจากทางธนาคารเคยปล่อยสินเชื่อไปก่อนหน้านี้ และจะขยายวงเงินสินเชื่อเป็นรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท
โดยเสนอทางเลือกเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา 2 ทางเลือก คือ 1.วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี วงเงินรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6% ระยะเวลาให้สินเชื่อ 6 ปี โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
2.วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ทั้งนี้ ทั้งสองส่วนจะขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 2% เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ
กระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอต่อที่ประชุมขอความเห็นชอบยกเลิก ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยากำจัดยุงต้องเป็นไปตาม มาตรฐาน พ.ศ...
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอเพื่อประกาศเป็นเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ประกอบด้วย พื้นที่ตำบลวังประจบ ตำบลน้ำรึม ตำบลตลุกกลางทุ่ง ตำบลวังหิน อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตำบลวังตะคร้อ อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย และตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร กระทรวงยุติธรรม รายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ประจำปี พ.ศ.2551 และ พ.ศ.2552 และการเสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นการให้อำนาจพิเศษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดีเอสไอรับใช้ฝ่ายการเมือง
กระทรวงแรงงานจะเสนอให้ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับคือ 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมพ.ศ. …. และ2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบ(ฉบับ..) พ.ศ.... โดยกระทรวงแรงงานฯรายงานว่า สภาวการณ์ของประเทศในช่วงปัจจุบันเกิดวิกฤติจากสถานการณ์อุทกภัย ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของนายจ้างและรายได้ของผู้ประกันตนและเพื่อเป็นการบรรเทาภาระของนายจ้างและผู้ประกันตน จึงสมควรลดอัตราเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตนเพื่อสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีคลอดบุตร จากเดิมจ่ายร้อยละ 1 ของค่าจ้าง เหลือร้อยละ 0.5 และลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ
กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ลงร้อยละ 1 ของค่าจ้าง จากเดิมจ่ายร้อยละ 3 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 2 ของค่าจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555 และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปให้ได้รับบำเหน็จชราภาพที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการจ่ายเงินสมทบลดลงในช่วงเวลาที่มีการลดเงินสมทบ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2555 จึงเห็นควรให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 ของนายจ้าง
กระทรวงแรงงาน เสนอขอความเห็นชอบการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน สำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และความคล่องตัวของการเบิกจ่ายเงินจากรัฐวิสาหกิจนั้น กล่าวคือ1 มติครั้งที่ 6/2554 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2554 โดยในกรณีอัตราเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าที่พักประเภทเหมาจ่าย เห็นควรปรับปรุงมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2546 เกี่ยวกับการกำหนดอัตราเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าที่พักประเภทเหมาจ่าย โดยปรับปรุงจากเดิมอัตราไม่เกินวันละ 1,000 บาท เป็นไม่เกินวันละ 1,500 บาท และกรณีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ เห็นควรกำหนดให้เบิกเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะ ในลักษณะเหมาจ่ายให้แก่ผู้เดินทางไปราชการ ไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด