"รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวและฉบับแรกที่มีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ไม่ผูกขาดโดยรัฐสภาเท่านั้น แม้รัฐสภาหรือ สนช.ในขณะนั้นจะมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารก็ตาม"นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ผู้ริเริ่มเสนอแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ควรยึดถือบรรทัดฐานนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน ถ้าจะแก้ไขก็ควรให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ หรือทำประชามติว่าจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลควรจัดให้มีลงการประชามติในประเด็นว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ถามแค่ประเด็นเดียวก็พอไม่ควรพ่วงประเด็นอื่นแทรกเข้ามา ถ้าเห็นสมควรแก้ไขก็ค่อยไปว่ากันในกระบวนการยกร่าง โดยเฉพาะรูปแบบการตั้ง สสร.
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 กำหนดไว้ชัดว่าก่อนวันลงประชามติไม่น้อยกว่า 45 วัน กกต.จะต้องจัดให้มีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยกว้างขวางและเท่าเทียมเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ
นอกจากนี้ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็ควรให้ประชาชนเป็นคนลงประชามติตัดสินใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
"หากพรรคเพื่อไทยเพิกเฉยเสียงคัดค้านก็ควรไปดูบทเรียนสมัยนายกฯ สมัคร ที่มุ่งหมายจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดคุณทักษิณ จนนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองและคุณทักษิณคงไม่เสี่ยงที่จะปล่อยให้น้องสาวที่เขารักต้องบอบช้ำและพบจุดจบทางการเมืองเหมือนรัฐบาลนอมินีก่อนหน้านี้"นายสุริยะใส กล่าว