สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีดังต่อไปนี้ เหตุการณ์แห่งปี : องค์ประชุมรัฐสภาล่มวันแถลงนโยบายของรัฐบาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางดึกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแถลงนโยบายของรัฐสภาต่อที่ประชุมรัฐสภา สืบเนื่องมาจากการที่ส.ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ จนนำมาสู่การประท้วงอย่างวุ่นวาย ส่งผลให้ต้องพักการประชุมนานถึง 40 นาที ต่อมานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สั่งให้นับองค์ประชุมถึง 2 ครั้ง ก่อนลงมติว่าจะปิดการอภิปรายตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอหรือไม่ โดยครั้งสุดท้ายมีองค์ประชุมเพียง 314 ไม่ถึงกึ่งหนึ่งจำนวน 325 เสียง จึงสั่งปิดประชุมในเวลา 23.27น.และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 สิงหาคม
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องอย่างร้ายแรงของฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะก่อนที่รัฐบาลจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญต้องผ่านการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงในรัฐสภามากถึง 300 เสียง แต่กลับไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้
วาทะแห่งปี : "คำวินิจฉัยประธาน ถือเป็นที่สิ้นสุดจะผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง" มาจากคำพูดของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการแถลงนโยบายของรัฐบาล เพื่อชี้แจงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กรณีการทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อวินิจฉัยในประเด็นที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างนั้นเหตุการณ์เป็นไปอย่างตึงเครียด จนท้ายที่สุดนายสมศักดิ์ใช้อำนาจวินิจฉัยด้วยด้วยคำพูดว่า...
"ผมฟังอยู่ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้นครับ ท่านครับ ท่านสมาชิกครับ ผมขออนุญาตนิดเดียวครับข้อบังคับที่พวกเราร่างขึ้นมาเป็นกติกาให้อำนาจประธานเป็นผู้วินิจฉัยแล้วถือว่าเป็นเด็ดขาด ส่วนผิดหรือถูกอีกเรื่องหนึ่งครับ ผมถือว่าผมวินิจฉัยแล้วต้องเป็นเด็ดขาดครับ ไม่อย่างนั้นมันจบไม่ได้ครับ" (รายงานการประชุมรัฐสภาสามัญทั่วไปครั้งที่วันที่ 23-24 สิงหาคม 2554 หน้า 740)
คำพูดดังกล่าวได้สะท้อนถึงบุคลิกการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประธานควบคุมการประชุมตามข้อบังคับที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : กระดองปูแดง จากการเลือกตั้งส.ส.เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ทำให้พรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากในสภา รวมทั้งมีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เข้ามาดำรงตำแหน่งส.ส.มากกว่า 20 คน แต่การทำงานของสภาภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยกลับให้ความสำคัญกับการปกป้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้มีอีกสถานะหนึ่งคือ น้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
โดยทุกครั้งในการประชุมสภา หรือรัฐสภาหากมีการพาดพิงถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือพ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตร ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็จะถูกส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมากลุกขึ้นตอบโต้อย่างดุเดือด จนการประชุมสภาต้องหยุดชะงักหลายครั้ง ดังนั้นสภาชุดที่ 24 ภายใต้เสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยที่มักอ้างเสมอว่ามีมวลชนคนเสื้อแดงกว่า 15 ล้านเสียงสนับสนุน จึงเปรียบเสมือนเป็นกระดองสีแดงปกป้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่มีชื่อเล่นว่า "ปู"
ฉายาวุฒิสภา : สังคโลก บทบาทของวุฒิสภาในช่วงที่ผ่านมาสังคมต่างให้ความเชื่อมั่น พร้อมกับคาดหวังไว้สูงว่าจะปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเพื่อกำกับและดูแลการทำงานของสภาและกลั่นกรองกฎหมาย แต่การทำงานในรอบปีที่ผ่านมาวุฒิสภากลับไม่มีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ ทั้งที่ล้วนมาจากบุคคลที่มีความอาวุโส มากประสบการณ์จากหลากหลายสาขาอาชีพ เปรียบเสมือนเครื่องสังคโลก วัตถุโบราณที่มีคุณค่าในตัวเอง ทุกคนล้วนต้องการเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ แต่กลับไม่สามารถใช้งานได้จริงเพราะมีคุณค่าเพียงแค่เครื่องประดับเท่านั้น
ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) : ค้อนปลอม ตราดูไบ เดิมนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ได้รับฉายาว่า "ขุนค้อน" เมื่อครั้งเป็นรองประธานสภาเมื่อปี 2540 เพราะได้ใช้ค้อนทุบลงบัลลังค์เพื่อแสดงความเด็ดขาดในการควบคุมการประชุม และก่อนได้รับเลือกให้เป็นประธานสภา นายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต่างประเทศท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าไปเสนอตัวจนได้รับเลือกเป็นประธานสภาสมใจ เมื่อได้มาทำหน้าที่ควบคุมการประชุมก็ถูกโจมตีอย่างหนักถึงความไม่เป็นกลางที่เอื้อต่อพรรคเพื่อไทย ทั้งในเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการอภิปรายทั่วไปเรื่องปัญหาน้ำท่วม กระทั่งถูกกล่าวหาขั้นรุนแรงว่ารับใบสั่งจากนายใหญ่ดูไบ ทำให้ภาพของขุนค้อนผู้หนักแน่น เด็ดขาด เป็นกลางตกต่ำลง จึงเป็นที่มาของฉายา "ขุนค้อน ตราดูไบ" ในที่สุด
ฉายาประธานวุฒิสภา (พล.อ.ธีรเดช มีเพียร) : นายพลถนัดชิ่ง เนื่องจากพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา แม้ว่าจะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหลังจากได้รับการสรรหาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่นับเป็นบุคคลที่สังคมให้การจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยผ่านตำแหน่งสำคัญทั้งในกองทัพและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมาแล้ว อาทิ ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่จากบทบาทที่ผ่านมาพล.อ.ธีรเดชไม่ได้แสดงบทบาทตามที่เคยแสดงวิสัยทัศน์ในการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ไม่เพียงเท่านี้ยังยังเลี่ยงตอบคำถามเพื่อแสดงความคิดเห็นในเหตุการณ์ต่างๆ มักอ้างว่า
"ผมจำไม่ได้", "ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ต้องไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง" เหมือนชิ่งตัวเองออกจากปัญหา ทั้งที่ควรจะแสดงบทบาทให้เข้มแข็งและเด็ดขาดสมกับเป็นอดีตนายพลในกองทัพ
ดาวเด่น : น.ส. รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ การทำงานของน.ส.รังสิมานับตั้งแต่เป็นส.ส.มีความเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะการสวมบทมือปราบ ส.ส.นอกแถว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การเปิดโปงส.ส.ที่ชอบเสียบบัตรแสดงตนแทนกัน การขอให้ประธานสภาควบคุมการประชุมให้มีความเป็นกลาง หรือแม้กระทั่งขอความร่วมมือ ส.ส.ไม่ให้ประชุมคณะกรรมาธิการในช่วงวันพุธ หรือวันพฤหัสบดี ซึ่งตรงกับวันประชุมสภาเพราะมีผลให้องค์ประชุมสภาเสี่ยงต่อการล่มหลายครั้ง บทบาทเหล่านี้ น.ส.รังสิมาได้ประพฤติปฏิบัติมาตลอด โดยไม่คำนึงถึงว่าช่วงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล
ดาวดับ: น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแม้ว่าจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร หนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตัดขาดกับงานฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสิ้นเชิง ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงท่าทีถึงการไม่ให้ความสำคัญกับรัฐสภาหลายครั้ง ทั้งที่เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าพร้อมจะให้ความร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อร่วมนำพาประเทศผ่านพ้นปัญหาต่างๆ สร้างความหวังให้กับสังคมไม่ต่างอะไรกับการเป็นดาวเด่นในทางการเมือง ภายหลังประสบความสำเร็จจากการบริหารธุรกิจของครอบครัวชินวัตร
สำหรับพฤติกรรมที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงออกจนนำมาซึ่งคำครหาว่า "หนีสภา" หลายต่อหลายครั้ง เช่น การไม่แสดงบทบาทนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ซึ่งต่างกับอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนก่อนหน้านี้พยายามจะเข้ามาเป็นตัวกลางสร้างความประนีประนอมให้กับทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อให้งานสภาเดินหน้าไปได้ หรือการมอบหมายให้รัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดแทนการตอบด้วยตัวเองหลายครั้ง ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเป็นการมอบหมายให้บุคคลอื่นชี้แจงแทนมากเกินความจำเป็นหรือไม่ ส่งผลให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับตำแหน่งดาวดับไปโดยปริยาย
คู่กัดแห่งปี : นายอรรถพร พลบุตร vs นายจตุพร พรหมพันธุ์ ด้านผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) รับฉายา หล่อดีเลย์ ด้วยบทบาทการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ หลังจากแพ้การเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยไม่สำเร็จ แม้จะพยายามทำหน้าที่ชี้แนะตรวจสอบรัฐบาลถึงปัญหาน้ำท่วม นโยบายด้านต่างๆ รวมถึงการเสนอทางออกเพื่อความปรองดอง แต่ไม่สามารถวิจารณ์ได้เต็มปาก เนื่องจากถูกย้อนศรจากส.ส.พรรคเพื่อไทยในสมัยนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ไม่ว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนหน้านี้ หรือการเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม จนเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ในตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง จึงถูกวิจารณ์ว่าเหตุใดไม่แก้ปัญหาอย่างที่ได้พูดเอาไว้ตั้งแต่เป็นนายกฯ กลายเป็นที่มาของ "หล่อดีเลย์"