ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายเพิ่มค่าครองชีพในวันที่ 1 ม.ค.55 ว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลหลายอย่างไม่ได้มีเจตนาช่วยเหลือคนจน หรือไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างที่หาเสียงไว้ เช่น กรณีประกาศขึ้นราคาเอ็นจีวี และราคาแอลพีจีขึ้น 1 บาทต่อลิตรต่อเดือนจนกว่าจะถึง 15 บาท ซึ่งรัฐบาลเองยังไม่ได้ชี้แจงถึงราคาโครงสร้างของพลังงานให้ประชาชนทราบ ว่าราคาแก็ส ค่าขนส่ง ราคาหน้าปั๊มมีโครงสร้างราคาอย่างไร แต่รัฐบาลกลับทยอยขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการฟังเสียงทักท้วง และดูเหมือนไม่มีมาตรการมารองรับทั้งผู้ค้า
ค่าขนส่งที่ต้องได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคา ยังไม่รวมค่ารถโดยสาร รถส่วนบุคคล ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าโดยสารสูงขึ้นที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสินค้าอุปโภค บริโภค รวมทั้งค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นของขวัญอย่างแรกที่ได้รับจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือค่าโดยสาร ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นทันที ขณะที่บ้านเมืองก็ยังมีวิกฤตอยู่กับการฟื้นฟู
นายชวนนท์กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลไม่ช่วยคนจนเอื้อคนรวย บริษัทห้างร้าน นิติบุคคลจะได้รับผลประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30%เป็น 23% แต่น่าสังเกตว่านโยบายที่ตรงใจกับประชาชนรากหญ้าจะถูกชะลอออกไป แต่นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายกลับได้รับประโยชน์ทันที
ทั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่สอดคล้อง เพราะต้องใช้งบประมาณมาฟื้นฟู เยียวยาประชาชน รัฐบาลตัดรายได้ของตัวเองหลายหมื่นล้านบาท แล้วก็ไปหาเรื่องกู้เงินเพื่อสั่นคลอนภาวะการเงินของประเทศโดยไม่จำเป็น สุดท้ายเป้าหมายคือการอุ้มคนรวยหรือช่วยคนจนกันแน่ นอกจากนี้ รัฐบาลนี้มิได้ยืนยันกฎหมายภาษีทรัพย์สิน หรือกฎหมายมรดกที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งรัฐบาลที่เข้ามารับตำแหน่งไม่ยืนยันกฎหมายนี้ภายใน 60 วันกฎหมายดังกล่าวก็ตกไป ดังนั้น จึงอยากถามรัฐบาลว่าที่ใช้คำว่าไพร่ อำมาตย์ กฎหมายฉบับนี้ที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำไมถึงไม่ทำ ทั้งที่พรรคได้วางรากฐานไว้
"ขณะนี้รัฐบาลพูดเหมือนกับว่าอุทกภัยได้ผ่านพ้นไปทั้งหมดแล้ว และอยู่ในช่วงเยียวยากู้เงินมาทำเมคกะโปรเจค แต่ในหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือประชาชนเพียงแค่ช่วยเรื่องเครื่องสูบน้ำ บูรณะพื้นที่ แต่รัฐบาลกลับไม่ทำปล่อยให้มีพื้นที่จมน้ำ เหมือนกับคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย ทั้งที่หลายพื้นที่เป็นฐานเสียงของตัวเองที่ชนะเลือกตั้งมา
ซึ่งปัญหาน้ำท่วมขังนี้ยังส่งผลกระทบต่อโครงการการจำนำข้าว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีข้าวไปจำนำ จะมีบางพื้นที่ที่ฟื้นฟูเร็วก็ไปทำข้าวนาปรัง เก็บเกี่ยวได้เร็วที่สุดคือเดือนมี.ค.แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะสิ้นสุดในเดือนก.พ.นี้ จึงไม่เป็นเหตุผลว่าแค่เดือนเดียวทำไมรัฐบาลถึงไม่ยืดเวลาออกไป มีพี่น้องเกษตรกรสอบถามมามาก ถ้าเข้าโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้จะไปขายให้ใคร ราคาเท่าไหร่ อยากถามว่าทำไมรัฐบาลไม่ให้ความสบายใจกับประชาชนรองรับข้าวนาปรังที่จะเข้ามา ทั้งหมดรัฐบาลไม่ได้ช่วยคนจนแต่อุ้มคนรวยดังนั้น อยากให้รัฐบาลได้ทบทวน เพราะเราค้านอย่างสร้างสรรค์ ติเพื่อก่อขอให้นำไปแก้ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนได้รับผลกระทบซ้ำเติมอีก"
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการคงนโยบายประชานิยมที่ไม่เป็นประโยชน์หลายโครงการ เช่น โครงการบ้านหลังแรกตัวเลขล่าสุด ธกส.ตั้งวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 0% 3 ปี โครงการนี้ใช้ไปเพียงแค่ 1,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น แสดงว่าไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ แต่ประชาชนต้องการไปซ่อมแซมบ้านที่ถูกน้ำท่วม เงินเหล่านี้รัฐบาลสามารถแปรไปช่วยประชาชนได้ ไม่ต้องดื้อดึงทิ้งไว้ไม่เกิดประโยชน์ ส่วนนโยบายรถคันแรกมีประชาชนไปใช้สิทธิแค่ 1,000 กว่าคันเท่านั้น ดังนั้น ขอให้เอางบก้อนนี้ไปช่วยประชาชนจะดีกว่า