นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ในวาระที่ 2 และ 3 ระหว่างวันที่ 4-6 ม.ค.นี้ว่า ประเด็นที่จะมีการหยิบยกมาพูดอย่างกว้างขวางคือการที่รัฐบาลพยายามจะใช้เงินโดยอ้างเพื่อการฟื้นฟูและรองรับปัญหาน้ำท่วม แต่การใช้จ่ายเงินเป็นไปด้วยความล่าช้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะสอดคล้องกันกับแนวทางที่รัฐบาลพยายามบอกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินอย่างเร่งด่วน อีกทั้งขาดรายละเอียดในแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะมานำเสนอต่อสภาฯ อีกด้วย
“จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาการอนุมัติเงินการมีโครงการต่าง ๆ ค่อนข้างล่าช้า และโครงการที่รัฐบาลเตรียมไว้ในงบประมาณปีนี้ที่เกี่ยวกับการป้องกัน ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการเก่าทั้งสิ้น ยังไม่มีอะไรใหม่จากคณะกรรมการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดจึงเป็นคำถามว่าสุดท้ายรัฐบาลมีแนวคิดในการบริหารอย่างไรกันแน่ เพราะเหมือนกับระบบงบประมาณปกติรัฐบาลก็ทำเหมือนทุกอย่างปกติ สุดท้ายก็ต้องมาวิ่งหาเงินว่าจะมาดูแลเรื่องของน้ำท่วมอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วควรมีการจัดงบประมาณ หรือปรับงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่า"
นอกจากเรื่องเงินกู้แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น กรณีจำนำข้าว เพราะจะเป็นโครงการที่ใช้เงินมาก และสุดท้ายก็กำลังจะผลักภาระข้าวแพงส่วนหนึ่งมาให้กับผู้บริโภค ขณะที่รัฐบาลชุดก่อนพยายามหลีกเลี่ยง เพราะมีบทเรียนว่าโครงการจำนำข้าวทำให้ข้าวราคาแพง บิดเบือนกลไกตลาด และกระทบการส่งออก ซึ่งก็มีการพูดกันมากขึ้นว่าขณะนี้การส่งออกข้าวไทยมีปัญหาเรื่องการแข่งขัน
จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูแลและรับฟังปัญหาโครงการรับจำนำข้าวนั้น ทางพรรคฯ กำลังประมวลปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่ามีทุกขั้นตอนตั้งแต่เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้รับจำนำ ถูกโกงน้ำหนัก โกงคุณภาพ ไปจนถึงเรื่องการทุจริตสวมสิทธิ การประมูลข้าวส่งออก และต่างประเทศก็พยายามซื้อข้าวจากไทยน้อยลงเนื่องจากนโยบายนี้ทำให้ข้าวไทยมีราคาสูงขึ้น
สำหรับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญในความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ยาก เพราะได้แถลงเป็นนโยบายต่อสภาฯ ส่วนประเด็นความเร่งด่วนก็เห็นมีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่ออกมาระบุว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำทันที แต่จะเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพียงใด ต้องติดตามดูรายละเอียดต่อไป
“ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าเรื่องนี้รัฐบาลเขียนไว้ในนโยบายอยู่แล้ว และก็เป็นสิ่งที่มีการประกาศว่าจะมีการดำเนินการ เพราะฉะนั้นก็คงเกิดขึ้นแต่ว่าช้าเร็วและจะเป็นในรูปแบบไหนอย่างไร ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"
ขณะที่ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 นั้น นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า การหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ไขในชั้นนี้อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น และไม่เป็นผลดีกับสังคมโดยส่วนรวม อีกทั้งไม่น่าจะเป็นผลดีกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยขั้นตอนแรกที่ควรจะทำคือต้องหากลไกดูแลบังคับใช้กฎหมายให้ไม่ให้เป็นปัญหา ไม่ถูกนำไปใช้ในการตีความอย่างกว้างขวางเกินไป หรือถูกครหาได้ว่ามีการนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางการเมือง
“ที่ผ่านมาผมเคยทำในลักษณะเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อหวังว่าพอทำไประยะหนึ่งแล้วก็จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าปัญหาของตัวกฎหมายนี้มีหรือไม่ หรือเป็นที่การบังคับใช้ ซึ่งประเด็นก็คงไม่ต่างจากที่อ.คณิต พูดถึง ทั้งในแง่ของความรุนแรงของโทษ ทั้งในแง่ของการกลั่นกรอง ที่พูดกันมากว่าตอนนี้จะทำให้ปัญหาคดีเยอะขึ้น ตรงนี้ถ้ามีการทำความเข้าใจถึงเป้าหมายแล้วก็ดูแลการบังคับใช้ให้รัดกุมก่อน แล้วก็หาข้อสรุปว่าควรแก้ไขหรือไม่ ก็น่าจะเป็นวิธีเดินที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย แล้วก็ไม่สร้างปัญหาด้วยความขัดแย้ง น่าจะดีที่สุด"นายอภิสิทธิ์ กล่าว