(เพิ่มเติม) วงหารือปรองดองหัวหน้าพรรคการเมืองชื่นมื่น เห็นพ้องไม่แตะมาตรา 112

ข่าวการเมือง Friday January 6, 2012 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ แถลงหลังเป็นเจ้าภาพจัดการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันของหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคในสภาผู้แทนราษฎรโดยกล่าวว่าจุดยืนที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน คือ จะไม่แตะต้องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองนัดร่วมรับประทานอาหารกันวันนี้ อาทิ พล.อ.สนธิ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย, ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ หัวหน้าพรรครักษ์สันติ และ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

หลังจากนั้น พล.อ.สนธิ เปิดแถลงข่าวพร้อมด้วยนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวอีกว่า โดยสรุปถือว่าบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี แต่ยังไม่มีการลงลึกไปในรายละเอียด เช่น กฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงคดี 91 ศพและผังล้มเจ้า เพราะกรรมาธิการปรองดองต้องการคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคในภาพใหญ่ก่อน

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยหลักการเห็นตรงกันว่าประเด็นใดที่สังคมยังเคลือบแคลงก็ให้รัฐบาลไปทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 237 และมาตรา 309 ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ให้ข้อเสนอแนะจำนวนมากเกี่ยวกับแนวทางสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะเรื่องการแยกแยะสิ่งถูกผิด

"ทุกคนต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ให้ความเห็นว่าถึงแนวทางที่จะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ว่าอะไรที่ยังไม่จำเป็นก็อย่าเพิ่งไปแตะต้องและให้หยิบผลการศึกษา วิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองของคณะกรรมาการชุดต่างๆ มาปรับใช้ นอกจากนี้วันที่ 10 ม.ค.จะเชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.มาเพื่อสอบถามถึงแนวคิด และจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำมาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการปรองดองต่อไป“พล.อ.สนธิ กล่าว

ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า แม้จะมีบางฝ่ายเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่การพิจารณาเป็นหน้าที่ของรัฐสภา หากหัวหน้าพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จ แต่ในการหารือนั้นเบื้องต้นเห็นสมควรเสนอให้รัฐบาลไปดูแลการบังคับใช้กฎหมายไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมือง

นอกจากนี้ ในการหารือยังคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าอยากให้พรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจนว่าจะใช้แนวทางใด อย่างที่มีการเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.ก็มีข้อเสนอจากนายอภิสิทธิ์เพื่อป้องกันพวกมากลากไป โดยเสนอว่าให้แต่ละจังหวัดเลือกส.ส.ร.ได้ 2 คน

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)เสนอรายชื่อคณะกรรมการ 34 ชื่อให้ ครม.แต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีการหยิบยกมาหารือในการหารือวันนี้ โดยเห็นว่าพรรคเพื่อไทยควรแสดงความชัดเจนว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ หรือจะใช้แนวทางใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ