นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพัฒนาการที่ดี หลังจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ยอมยกเลิกการใช้มาตรา 7 ของ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้กลับไปสู่เงื่อนไขเดิมคือ ให้ ธปท. นำรายได้หลังการหักการขาดทุนสะสมก่อน แสดงว่าไม่มีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกับการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หรือนำเงินจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตามความพยายามของรัฐบาลในการจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้สะท้อนแนวคิดเผด็จการทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเกิดมีกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายวิชาการ สังคม และคนใน ธปท. จนดำเนินการต่อไปไม่ได้ และยังมีเรื่องหน้าเป็นห่วงคือ การธนาคารพาณิชย์เข้ามารับผิดชอบภาระดอกเบี้ยของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯแทนรัฐบาล ซึ่งตนเองเคยพูดไว้ว่า โดยหลักการเป็นเรื่องที่พิจารณาได้ เนื่องจากหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ เกิดจากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน ดังนั้น เมื่อสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งก็ควรมีส่วนที่จะแบ่งเบาภาระหนี้ตรงนี้ด้วย แต่รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เกิดการผลักภาระให้กับประชาชนจากต้นทุนธนาคารพาณิชย์ที่สูงขึ้น
“ผมเป็นห่วงคนไทยที่ไม่ได้ร่ำรวย คนที่เงินฝากไว้กับธนาคารจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เพราะเป็นกลุ่มคนที่อำนาจต่อรองน้อยที่สุด แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในลักษณะกองทัพมด ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำลง คนเหล่านี้ก็จะได้รับผลระทบโดยตรง รัฐบาลจึงต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ว่าประชาชนที่เป็นผู้ฝากเงินจะไม่ถูกเอาเปรียบ อีกทั้งยังต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ที่ฝากเงิน หลังจากการนำเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากไปใช้ ซึ่งกระทรวงการคลังต้องมีความโปร่งใสในเรื่องนี้" นายกรณ์ กล่าว
อดีต รมว.คลัง กล่าวอีกว่า จากการคำนวณการใช้จ่ายของรัฐบาลตั้งแต่การตั้งงบประมาณขาดดุล 4 แสนล้านบาท การก่อหนี้จากนโยบายจำนำข้าวที่ไปฝากไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) อีก 2 แสนล้านบาท และยังมีหนี้ที่เกิดจากกองทุนน้ำมันอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทุกเดือนๆละ 4 พันล้านบาท และเตรียมออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และอีก 5 หมื่นล้านบาท จัดตั้งกองทุนประกันภัย โดยรวมแล้วเท่ากับรัฐบาลชุดนี้ได้ก่อหนี้สินให้ประเทศชาติแล้ว ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ภายในการบริหารงานเพียง 6 เดือน
ส่วนการที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ออกมากล่าวโทษ ธปท. ที่คัดค้านการโอนหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯให้ ธปท.รับผิดชอบ และออกมาทำให้สังคมไม่ไว้วางใจนักการเมืองถือ คงเป็นความสับสนของนายวีรพงษ์ เพราะ ธปท.มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ผู้บริหารองค์กรย่อมมีสิทธิออกมาโต้แย้งได้ เพราะธนาคารกลาง ต้องมีความเป็นอิสระ ซึ่งตนเคยพูดเสมอว่า หากรัฐบาลเข้าไปครอบงำ ธปท.ได้ ก็ถือเป็นการนับถอยหลังเศรษฐกิจไทยได้เลย
สำหรับพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟูฯที่กำลังจะครบกำหนดที่จะต้องรีไฟแนนท์ใหม่ ประมาณเดือน ส.ค.หรือ ก.ย.ปี 55 นี้ แม้จะยังไม่มีการพูดชัดเจนว่า หน่วยงานใดจะเป็นผู้ออกพันธบัตร แต่เมื่อนายกิตติรัตน์ ออกมาระบุชัดเจนว่า หนี้สินส่วนนี้จะยังเป็นหนี้ของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ที่ค้ำประกันพันธบัตรในส่วนนี้ต่อไป เพราะกองทุนฟื้นฟูฯไม่มีทรัพย์สินมารองรับการออกพันธบัตรที่จะเป็นหนี้สาธารณะ จะโยนไปให้ ธปท.ค้ำประกันไม่ได้