นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการออก พ.ร.ก.เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูประเทศหลังนำลดและหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีเนื้อหาว่า เนื่องจากในปี 2554 ประเทศไทยไม่ได้อยูในสภาวะปกติ วิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นถือเป็นอุทกภัยที่หนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวของประเทศอย่างมาก ทำให้รัฐบาลต้องลงทุนฟื้นฟู บูรณะประเทศและวางรากฐานการปรับโครงสร้างในระยะยาว จำเป็นต้องหาเงินทุนมหาศาลมาซ่อมแซมและพัฒนา แก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ
ข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)ที่เสนอให้มีการเตรียมการด้านการเงินเพื่อการลงทุนวางระบบบริหารจัดการนำและสร้างอนาคตประเทศด้วยการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนวางระบบบริหารจัดการนำและสร้างอนาคตประเทศ
โดยเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูฯว่า เนื่องจากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯที่ปัจจุบันมียอดคงค้างจำนวน 1.14 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ที่เกิดจากวิกฤติสถาบันการเงินที่ต้องปิดกิจการไปถึง 56 แห่ง ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งหนี้กองนี้ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น แต่ตลอดระยะเวลาตั้งแต่สมัยนายกชวน ปี 2541 ถึง นายกอภิสิทธิ์ ปี 2554 รัฐบาลต้องนำงบประมาณของชาติซึ่งมาจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชนมาจ่ายดอกเบี้ยให้ปีละประมาณ 65,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่จ่ายดอกเบี้ยไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 600,000 ล้านบาท
สำหรับเงินต้นที่ธปท.เป็นผู้ใช้หนี้นั้นพบว่ากว่า 13 ปีที่ผ่านมาเงินต้นลดลงไปเพียง 300,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เห็นว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูเป็นหนี้ที่ประชาชนต้องชดใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดหากยังบริหารเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ อีกกี่ปีภาระเงินต้นที่ธปท.รับผิดชอบอยู่จะจบสิ้น ถ้าลองคำนวณจากสถิติการชำระหนี้มาโดยตลอดของธปท. คาดว่าจะสามารถชำระหนี้เงินต้นจบสิ้นในอีกประมาณ 50 ปีข้างหน้า และกระทรวงการคลังก็ต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยให้อีก 50 ปีเช่นกัน
ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ต้องรับภาระหนี้ดอกเบี้ยปีละประมาณ 65,000 ล้านบาทแล้ว รัฐบาลก็คงจะสามารถนำเงินงบประมาณไปดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศได้อีกหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขบริหารจัดการน้ำของประเทศ การขุดลอกคลอง การสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ แก้มลิง งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ หรือ สร้างพื้นที่ใหม่ขยายเพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้นได้ หากเป็นโครงการผูกพัน 5 ปี เราสามารถมีเงินลงทุนได้ถึง 300,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจึงขอเป็นรัฐบาลแรกที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปรับแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม และวางแผนสำหรับอนาคตโดยขอให้ธปท.เข้ามาช่วยแก้ปัญหาแบกรับภาระดอกเบี้ยอันเป็นการช่วยประหยัดเงินภาษีประชาชน
" รัฐบาลขอโอกาสนำเงินภาษีประชาชนไปสร้างประเทศมากกว่าการชำระดอกเบี้ยที่ไม่มีวันสิ้นสุด และการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูอย่างถาวรก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเพิ่มความคล่องตัวให้แก่ทั้งรัฐบาลนี้และรัฐบาลต่อๆไปด้วยดังนั้นรัฐบาลจึงต้องออกพรก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการออกพรก.นี้จึงเสมือนเป็นการสนับสนุนการปิดโอกาสของประชาชน ปิดโอกาสของประเทศในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า" นางฐิติมา ระบุ
ส่วนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการผลิตและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องออกพรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการเพื่อลงทุนวางระบบบริหารจัดการนำและสร้างอนาคตประเทศ ในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันทีในการพัฒนาประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของอุทกภัยหรือหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยอย่างถาวร ดังนั้นพรก.ทั้งสองนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อรองรับการลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนอย่างเร่งด่วนและรองรับการลงทุนตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยไม่กระทบวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศด้วย