โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุนโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ดำเนินงานอย่างเป็นอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ อีกทั้งรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย
"ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการสร้างความปรองดองของคนในชาติที่รัฐตระหนักและรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย" นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
เนื่องจากคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปคอป.) เห็นว่าจากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 54 นั้น ประเด็นหนึ่งที่ถือว่าสำคัญอย่างเร่งด่วนที่ต้องทำในปีแรกคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
ดังนั้นการที่ ครม.เห็นชอบแนวทางของ ปคอป.ที่ได้เสนอทั้งกรอบช่วงเวลาเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงคือตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 และกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชนตลอดจนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ได้รับรายละ 4.5 ล้านบาท กรณีบาดเจ็บสาหัส ได้รับร้อยละ 25 ของอัตรากรณีเสียชีวิต เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางของ ปคอป.ทั้งสองกรอบนี้น่าจะประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้างความปรองดอง เพราะตามหลักจิตวิทยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมรู้สึกถึงการได้รับความเป็นธรรม เพราะได้รับการเยียวยาความสูญเสีย ดังนั้นจิตใจพวกเขาก็คงจะทุเลาความเจ็บปวดที่ฝังแน่นอยู่ตลอดลงไปได้
โดยหลักการพิจารณาแนวทางของการกำหนดค่าชดเชยในครั้งนี้ ปคอป.ได้เสนอ ครม.ว่าการชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูเป็นการคำนึงถึงทั้งทางการเงินและรูปแบบอื่น รวมถึงการสร้างโอกาสในการดำรงชีพและประกอบอาชีพ โดยเทียบเคียงให้มีมาตรฐานเป็นสากลกับการกำหนดค่าชดเชยของสหประชาชาติและประเทศที่มีการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตามก็มีข้อห่วงใยในคณะรัฐมนตรีว่าถ้ามีแนวทางให้เงินช่วยเหลือเยียวยาเช่นนี้ก็อาจจะมีบางคน บางกลุ่ม กล้าที่จะออกมาชุมนุมมากขึ้น เพราะหากเกิดความรุนแรงจนมีการบาดเจ็บล้มตายก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ ชดเชย ความเสียหายตามหลักเกณฑ์นี้ได้เช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าการฟื้นฟูเยียวยาครั้งนี้เป็นวาระพิเศษเท่านั้นที่ทำให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์
"คงไม่มีใครหวังประโยชน์จากการสร้างความรุนแรงทางการเมือง และเชื่อว่าแนวทางการยุติความขัดแย้งต่างๆในสังคมควรจะเป็นไปโดยสันติวิธีต่างหาก อย่าให้ต้องมาบาดเจ็บล้มตายกันอีกเลย" นางฐิติมา กล่าว
สำหรับการทำงานของคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและค้นหาความจริงจากกรณีความรุนแรงทางการเมืองก็ยังต้องดำเนินการต่อไป เพื่อคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นนโยบายรัฐบาลจึงสนับสนุนให้ คอป.ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ รัฐบาลเองก็พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน