In Focusออกสตาร์ทเลือกตั้งปธน.สหรัฐ เส้นทางสู่ทำเนียบขาวอันแสนหฤโหด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 11, 2012 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับการหาเสียงและการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อเฟ้นหาตัวแทนพรรครีพับลิกันไปชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐกับบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต เจ้าของตำแหน่งคนปัจจุบันที่ประกาศลงสู้ศึกต่อเป็นสมัยที่ 2 ในช่วงปลายปีนี้

ประเดิมกันด้วยการหยั่งเสียงหรือการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัส (caucus) ที่รัฐไอโอวาเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ต่อด้วยการเลือกตั้งแบบไพรมารี (primary) ที่รัฐนิวแฮมป์เชอร์ในวันที่ 10 มกราคม ซึ่งปรากฏว่า นายมิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ วัย 64 ปี สามารถคว้าชัยชนะเอาฤกษ์เอาชัยจากการหยั่งเสียงทั้งสองรัฐแรกนี้

ว่าแต่อะไรคือ คอคัส อะไรคือ ไพรมารี?

เพื่อให้การเกาะติดบรรยากาศการหาเสียงและลุ้นผลเลือกตั้งเป็นไปอย่างสนุก เรามาลองทำความรู้จักระบบเลือกตั้งที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนของสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีกลิ่นอายความเป็นประชาธิปไตยหอมหวนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

* ขับเคี่ยวเพื่อเป็นตัวแทนพรรค

เป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองหลักอยู่สองพรรค คือ รีพับลิกัน (GOP) ที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมชัดเจน และเดโมแครต ที่มีนโยบายเสรีนิยม เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง แต่ละพรรคก็จะต้องสรรหาตัวแทนของพรรคเองเสียก่อนที่จะส่งไปลงสนามชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งกระบวนการนี้ก็คือการเลือกตั้งขั้นต้นนั่นเอง

อย่างไรก็ดี สำหรับการเลือกตั้งในปี 2555 นี้ ทางฝั่งเดโมแครตมีตัวยืนอยู่แล้ว นั่นคือ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีสมัยแรก แต่ยังคงหมายมั่นปั้นมือว่าจะรักษาเก้าอี้ในทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 และเนื่องจากว่า ไม่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตคนใดเสนอตัวท้าชิงกับปธน.โอบามา ดังนั้นจึงเท่ากับว่าไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาตัวแทนพรรคอีก (แตกต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่ทั้งสองพรรคต่างต้องหาตัวแทนไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน ดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัยแล้ว ทำให้หมดสิทธิลงเลือกตั้งอีก ตามที่รัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดไว้ว่า ผู้นำประเทศสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย)

ด้วยเหตุนี้เอง การแข่งขันหาตัวแทนพรรครีพับลิกันจึงดึงดูดความสนใจและยึดพื้นที่สื่อมวลชนไปเกือบทั้งหมดในช่วงออกสตาร์ทศึกเลือกตั้งปีนี้

โดยผู้สมัครจะเจอกับการเลือกตั้งขั้นต้นแบบ คอคัส และ ไพรมารี ใน 50 มลรัฐ บวกกับดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของประเทศ รวมถึงดินแดนโพ้นทะเลอื่นๆ ที่เป็นเครือรัฐของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ อเมริกันซามัว กวม จอห์นสตันอะทอลล์ หมู่เกาะมิดเวย์ หมู่เกาะนอร์ธเทิร์นมาเรียนา เปอร์โตริโก หมู่เกาะเวอร์จิน และเขตคลองปานามาในส่วนที่สหรัฐอเมริกาเช่าไว้จากประเทศปานามา

* คอคัส หรือ ไพรมารี ต่างกันอย่างไร?

รัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบไพรมารี ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับในคูหาเหมือนการเลือกตั้งทั่วไป โดยในบางรัฐ ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้นจึงจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีของพรรคนั้นๆ ได้ ซึ่งเรียกว่า closed primary ขณะที่ในรัฐอื่นๆ ผู้โหวตไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคก็สามารถลงคะแนนเสียงได้ หรือที่เรียกว่า open primary

สำหรับการเลือกตั้งแบบคอคัสนั้น ปัจจุบันมีใช้กันในเพียง 12 มลรัฐ และมีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนกว่า นอกจากนี้ ในแต่ละมลรัฐ และในแต่ละพรรค ต่างก็มีกฎกติกาในการจัดคอคัสแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ในรัฐส่วนใหญ่ อาทิ ไอโอวา ซึ่งถือเป็นรัฐที่โดดเด่นสำหรับการเลือกตั้งแบบคอคัสนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคระดับท้องถิ่นจะนัดหมายประชุมกันตามโบสถ์ โรงเรียน โรงยิม ห้องสมุด สถานีดับเพลิง หรืออาคาร สาธารณะอื่นๆ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับตัวผู้สมัครแต่ละราย ตลอดจนนโยบายต่างๆ จากนั้นสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงจึงจะลงคะแนน โดยการเลือกตั้งแบบคอคัสอาจจะเป็นการลงคะแนนลับด้วยวิธีหย่อนบัตรลงในหีบ หรือยกมือโหวตแบบเปิดเผย

* Super Tuesday

ศึก Super Tuesday นับว่ามีความสำคัญในขั้นตอนการหยั่งเสียง เพราะเป็นวันที่มีการเลือกตั้งขั้นต้นทั้งแบบ ไพรมารี และ คอคัส พร้อมกันหลายรัฐทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เห็นโฉมหน้าตัวแทนพรรคตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในทางกลับกัน หากผลการเลือกตั้งที่ออกมายังไม่ชัดเจน ผู้สมัครก็ยังคงต้องขับเคี่ยวกันต่อไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากยังมีรัฐอื่นๆกำหนดจัดการเลือกตั้งขั้นต้นหลังจาก Super Tuesday ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงรัฐที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง แคลิฟอร์เนีย

สำหรับศึก Super Tuesday ในการเลือกตั้งประจำปี 2555 นี้ ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม

* การประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค

หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งขั้นต้น ทั้งสองพรรคจะจัดการประชุมใหญ่ระดับชาติ (Party National Convention) เพื่อประกาศชื่อตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับเลือกมาจากการโหวตแบบไพรมารี และ คอคัส ในแต่ละรัฐดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ การประชุมใหญ่จะเป็นเวทีให้ตัวแทนพรรคได้แถลงนโยบายอีกด้วย

โดยปกติแล้ว การประชุมใหญ่จะจัดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งทั่วไปประมาณสองเดือนครึ่ง สำหรับในการเลือกตั้งคราวนี้ พรรครีพับลิกันกำหนดจัดประชุมใหญ่ในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม ส่วนพรรคเดโมแครตกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 3-6 กันยายน ในเมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา

* โค้งสุดท้ายของการหาเสียงกับการโต้วาที

เมื่อแต่ละพรรคได้เลือกตัวแทนเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ผู้สมัครของสองพรรคก็เตรียมประจันหน้ากันในการแสดงวิสัยทัศน์โค้งสุดท้ายแบบเต็มสูบ ผ่านทางการโต้วาที (debate) ที่มีการถ่ายทอดออกอากาศให้ผู้ชมทั่วประเทศได้รับชมรับฟัง

การดีเบตถือเป็นเวทีสำหรับวัดกึ๋นผู้สมัคร และอาจเป็นเวทีชี้ชะตาผลการลงคะแนนเลือกตั้ง หากผู้สมัครคนหนึ่งสามารถนำเสนอนโยบาย แสดงปฏิภาณไหวพริบ ตอบข้อซักถาม ได้โดนใจกว่าผู้สมัครอีกราย

สำหรับการเลือกตั้งคราวนี้ จะมีการจัดดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงประธานาธิบดีทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 3 ตุลาคม ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด วันที่ 16 ตุลาคม ในเมืองเฮมป์สเตด รัฐนิวยอร์ก และวันที่ 22 ตุลาคม ในเมืองโบคาเรตัน รัฐฟลอริดา นอกจากนี้ยังมีการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ 1 ครั้ง ในแดนวิลล์ รัฐเคนตักกี วันที่ 11 ตุลาคม

นอกจากการโต้วาทีแล้ว แต่ละฝ่ายยังทุ่มเงินมหาศาลในการโฆษณาและเดินสายหาเสียงในรัฐสำคัญๆ โดยอาสาสมัครผู้สนับสนุนของแต่ละพรรคจะโทรศัพท์หรือเคาะประตูตามบ้านเพื่อขอคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครจากสองพรรคจะเน้นหนักไปที่รัฐที่เปรียบเหมือนสนามรบในการหาเสียง (battleground states) เนื่องจากผู้มีสิทธิออกเสียงในรัฐกลุ่มนี้ยังไม่ได้เทใจให้พรรคใดพรรคหนึ่งเป็นพิเศษ

* ดีเดย์วันเลือกตั้งทั่วไป 6 พฤศจิกายน

หลังจากที่ผ่านกระบวนการทั้งหลายทั้งปวงในข้างต้น และแล้วก็มาถึงวันสำคัญ นั่นคือ "วันเลือกตั้งทั่วไป" (Election Day) ซึ่งรัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน

ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี ประชาชนชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน "คณะผู้เลือกตั้ง" (electoral college) เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง

โดยคะแนนเลือกตั้งจะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote การที่ประชาชนออกจากบ้านไปเลือกคณะผู้เลือกตั้ง ถือเป็น popular vote จากนั้น คณะผู้เลือกตั้งไปเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า electoral vote

ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง

* การรับตำแหน่ง

รัฐธรรมนูญสหรัฐระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า สหรัฐอเมริกาจะได้ประธานาธิบดีคนที่ 45 อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2556 นั่นเอง

ระบบการเลือกตั้งสหรัฐยังมีรายละเอียดมากกว่าที่กล่าวถึงในข้างต้น อย่างไรก็ดี หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้เห็นภาพรวมของกระบวนการสรรหาผู้นำประเทศแม่แบบประชาธิปไตยแห่งนี้ไม่มากก็น้อย แล้วมาเกาะติดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2555 กันในคราวต่อไป...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ