สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลการสำรวจ เรื่อง เปรียบเทียบความนิยมศรัทธาของสาธารณชนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า ความนิยมของสาธารณชนต่อนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลดลงเล็กน้อยจาก 38.6% ในเดือนก.ย.54 มาอยู่ที่ 34.7% ในเดือนม.ค.55
ในขณะที่ความนิยมของสาธารณชนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 12.9% มาอยู่ที่ 14.2% และกลุ่มคนที่ไม่นิยมศรัทธาใครเลยเพิ่มขึ้นจาก 48.5% มาอยู่ที่ 51.1% อย่างไรก็ดี ยังคงถือว่าความนิยมของสาธารณชนต่อนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงสูงกว่าความนิยมของประชาชนที่มีต่อนายอภิสิทธิ์
ทั้งนี้ หากแยกความนิยมศรัทธาตามการศึกษาจะพบว่า กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี 35.5% นิยม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไปนิยมศรัทธา น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้อยกว่าอยู่ที่ประมาณ 31.0% ในขณะที่มีแนวโน้มชัดเจนในความนิยมต่อนายอภิสิทธิ์ คือ ยิ่งตัวอย่างมีการศึกษาสูงขึ้น มีแนวโน้มนิยมต่อนายอภิสิทธิ์เพิ่มขึ้น
"เนื่องจากกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงยังคงเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศส่งผลให้โดยภาพรวมความนิยมศรัทธาของประชาชนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สูงกว่านายอภิสิทธิ์กว่าสองเท่า" เอกสารระบุ
เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนว่างงาน 41.3% รองลงมาเป็น กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ 38.7% และกลุ่มเกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป 37.6% ตามลำดับ ในขณะที่นักเรียนนักศึกษากลายเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมใครเลยสูงถึง 57.4%
เมื่อจำแนกตามพื้นที่พบว่า ประชาชนนอกเขตเทศบาลนิยมศรัทธาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มากกว่าประชาชนในเขตเทศบาล คือ 38.1% ต่อ 29.3% ในขณะที่คนในเขตเทศบาลนิยมนายอภิสิทธิ์ 15.9% ส่วนคนนอกเขตเทศบาลนิยมนายอภิสิทธิ์ 13.3% และที่น่าสนใจคือ คนในเขตเทศบาลเกินครึ่งหรือ 54.8% ไม่นิยมศรัทธาใครเลย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนเกือบทุกภาคนิยมศรัทธา น.ส.ยิ่งลักษณ์ มากกว่านายอภิสิทธิ์ ยกเว้นภาคใต้ คือ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกินครึ่งหรือ 51.2% รองลงมา คือ คนภาคเหนือ 36.8% คนกรุงเทพฯ 32.2% คนภาคกลาง27.6% แต่คนภาคใต้เพียง 4.5% ที่นิยม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะที่คนภาคใต้ 38.3% นิยมศรัทธานายอภิสิทธิ์ และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ คนในภาคกลางส่วนใหญ่ 59.9% ไม่นิยมศรัทธานักการเมืองทั้ง 2 คนนี้เลย
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ คือ กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, สุพรรณบุรี, น่าน, เชียงราย, เชียงใหม่, อำนาจเจริญ, ศรีสะเกษ, เลย, สกลนคร, อุดรธานี, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี, ยะลา และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 4,689 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.54 - 18 ม.ค.55