นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือระหว่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายเบนิกโน เอส อาคีโน ที่สาม ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือที่ไทยมีกับฟิลิปปินส์ให้มีความคืบหน้าในหลายด้าน
ทั้งนี้ ในระหว่างการหารือแบบ four-eyes นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อกรณีภัยพิบัติในฟิลิปปินส์จากพายุวาชิ และทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือที่ฟิลิปปินส์ให้แก่ไทยจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ทั้งเงินบริจาคจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ จำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐ และน้ำดื่มของภาคเอกชนฟิลิปปินส์ พร้อมกับย้ำว่า ประเทศไทยได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว และรัฐบาลกำลังเดินหน้าแผนการการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในระยะยาว เชื่อมั่นว่า ฟิลิปปินส์เองก็จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายชื่นชมความสัมพันธ์ที่มีความราบรื่นและใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยต้องการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือให้มีความหลากหลายและมีพลวัตมากขึ้นในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน ซึ่งแม้ว่า มูลค่าการค้ารวมจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังมีอุปสรรคทางการค้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ฟิลิปปินส์ผ่อนปรนการนำเข้าสินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีกสดและแช่แข็ง พร้อมยืนยันถึงถึงความปลอดภัย รวมทั้งการควบคุมมาตรฐานของผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ของไทย และการระบาดของไข้หวัดนกได้ยุติมาหลายปีแล้ว
ในด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ได้ให้ความสนับสนุนภาคเอกชนไทยมาโดยตลอด ซึ่งนักลงทุนไทยมีความสนใจเพิ่มขึ้นที่จะเข้ามาลงทุนกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในกิจการเน้นความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP (the Public-Private Partnership Program) ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์เองมีนโยบายสนันสนุนกิจการดังกล่าวอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ ดูแลเรื่องการเก็บภาษีซ้อน และการทุ่มตลาดจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในฟิลิปปินส์ของนักลงทุนไทย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันความร่วมมือที่ไทยมีกับฟิลิปปินส์ให้มีความคืบหน้า โดยเน้นขยายความร่วมมือที่มีอยู่เดิม เพิ่มมิติความสัมพันธ์ทวิภาคี ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือด้านพลังงาน ความร่วมมือด้านการศึกษา ความร่วมมือด้านยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือในกรอบอาเซียน
สำหรับความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะพัฒนาทดแทน โดยเฉพาะพลังงานทางเลือกและชีวภาพ และอยู่ระหว่างการจัดทำถ้อยแถลงร่วมเพื่อจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน (Energy Forum) ซึ่งจะช่วยกำหนดกรอบความร่วมมือด้านพลังงานของสองประเทศ
ด้านการศึกษา ไทย-ฟิลิปปินส์เห็นพ้องให้มีความเชื่อมโยงด้านการศึกษา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนครู นายกรัฐมนตรีรับที่จะผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูจากฟิลิปปินส์ให้มีรายได้เทียบเท่าครูจากประเทศตะวันตก เพื่อจูงใจให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น นอกกจากนี้ ยังยืนยันความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งฝ่ายไทยอยู่ระหว่างพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจด้านการปราบปรามยาเสพติดและการควบคุมสารตั้งต้นสำหรับผลิตยาเสพติด ตามที่ฟิลิปปินส์ได้เสนอมา
ระหว่างการหารือ ฟิลิปปินส์ได้ยืนยันที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 5 (JCBC-Joint Commission on Bilateral Cooperation) รวมถึง การจัดประชุม JTC — Joint Trade Committee ครั้งที่ 1 ขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในประเด็นที่ยังคั่งค้างกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการค้าการลงทุน หรือ สินค้าเกษตร
อีกทั้งได้มีการหารือถึงความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายพอใจผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ซึ่งไทยเองได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในการผลักดันการพัฒนาด้านต่างๆในกรอบอาเซียน และได้ขอบคุณที่ฟิลิปปินส์สนับสนุนแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านอุทกภัยที่เสนอโดยประเทศไทย ในโอกาสนี้ด้วย