"กิตติรัตน์" ยันพ.ร.ก.จำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ

ข่าวการเมือง Wednesday February 1, 2012 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ คงเหลือการพิจารณากฎหมายเพียง 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสาธารณะการเงิน และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 ที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอให้ประธานสภาฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยืนยันถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ โดย พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวโยงกันทั้งสิ้น เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือ การเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนสู่ประเทศไทย หลังจากในปี 54 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติอุทกภัยครั้งรุนแรง จนสร้างความเสียหายให้กับทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ

"ตอนนี้ทุกสิ่งวนอยู่กับคำว่า ความเชื่อมั่น การดำเนินการในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา เรายอมรับว่ารัฐบาลถูกลดความเชื่อมั่นลงจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ตนและนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) ได้พยายามเดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่ปิดบัง โดยยอมรับว่าความเสียหายเกิดขึ้นอย่างมาก และจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ซึ่งในปัจจุบันเชื่อว่าหลายประเทศเริ่มมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังคงยืนยันที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไป

"ผมยอมรับว่าตอนนี้ ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นดีขึ้น ดูจากราคาหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งนักธุรกิจก็ยังลงทุนในไทยต่อไป ทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ...ผมรู้สึกว่าเขาสบายใจที่จะร่วมกันทำงานหนัก เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้า" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายถึง พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่อาจไม่เพียงพอต่อการนำมาใช้ พร้อมมองว่าวงเงินในระดับนี้ภาคธุรกิจประกันอาจสามารถระดมเงินกันได้เองโดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า วงเงิน 50,000 ล้านบาทดังกล่าวอาจไม่พอ หากไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการวางระบบบริหารจัดการน้ำซึ่งเป้นโครงการระยะยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงกฎหมายอีก 2 ฉบับที่กำลังอยู่ในกระบวนการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยยืนยันว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลเคารพในกรณีการส่งตีความของฝ่ายค้าน แต่ยังเชื่อว่ามีความจำเป็นที่จะต้องระดมเงินมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มั่นใจในกระบวนการจัดการน้ำของประเทศไทย อย่างไรก็ดี หากฝ่ายค้านยังมีความกังวลต่อการโปร่งใสในการออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับของรัฐบาลนั้น ฝ่ายค้านยังสามารถตรวจสอบได้ตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ