"อภิสิทธิ์"ยันฝ่ายค้านส่งตีความ พ.ร.ก.ไม่ใช่การเมือง,ไม่จำเป็นเร่งด่วน

ข่าวการเมือง Wednesday February 1, 2012 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่ฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ก.เพื่อแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นไม่ได้เป็นการเล่นเกมทางการเมืองตามที่รัฐบาลกล่าวหา แต่เห็นว่าทั้งสองเรื่องไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะฝ่ายค้านเองก็เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแต่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 จึงไม่ยื่นเรื่องให้ตีความ

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ตนเองอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันเรื่องการวางแผนป้องกันปัญหาอุทกภัย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และการที่ฝ่ายค้านส่งตีความไม่ได้ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายล่าช้าออกไป

"ฝ่ายค้านเห็นว่าเรื่องตรงนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ แม้ไม่มีการตราพระราชกำหนด รัฐบาลก็เดินหน้าฟื้นฟูป้องกันน้ำท่วมได้...การดำเนินการของฝ่ายค้านไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่องเพื่อความถูกต้อง ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการป้องกันปัญหาอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็น การซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การขุดลอกคูคลอง ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณอยู่แล้ว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินทั้งหมดจะใช้งบประมาณราว 7-8 หมื่นล้านบาท

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า แม้ฝ่ายค้านจะไม่ส่ง พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแต่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทภัย พ.ศ.2555 ไปตีความ แต่อยากให้รัฐบาลดูแลผู้ประสบอุทกภัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะตามกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุไว้เฉพาะผู้ประสบอุทกภัยในช่วงปี 54 เท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงช่วงต้นปี 55 อีกทั้งไม่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนแนวคิดที่จะมีการก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้นไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ว่าจะสามารถแก้ปัญหาอุทกภัยได้ เพราะทำได้เพียงแค่ป้องกันโรงงานไม่ให้ถูกน้ำท่วม แต่ไม่สามารถเดินสายการผลิตได้ตามปกติ ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ส่วน พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องแนวทางการทำงานหลังตั้งกองทุนประกันภัย อีกทั้งกองทุนที่ตั้งไว้เพียง 5 หมื่นล้านบาทจะไม่เพียงพอ เพราะมีข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจให้คุณให้โทษต่อภาคธุรกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ