"อภิสิทธิ์" แนะปชช.ร้องรัฐทบทวนนโยบายพลังงานหลังผิดสัญญาปรับขึ้นเรียบ

ข่าวการเมือง Thursday February 16, 2012 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายด้านพลังงาน เพราะถือว่าเป็นการผิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน รวมทั้งจะสร้างความเสียหายต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของพี่น้องประชาชน

"ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ ได้เตือนมาโดยตลอดว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และประชาชนมีสิทธิ์เรียกร้องจากรัฐบาลที่เคยสัญญาว่าจะกระชากค่าครองชีพลง ยกเลิกกองทุนน้ำมัน แต่เหตุใดวันนี้กลับกลายเป็นว่าประชาชนต้องจ่ายค่าพลังงานแพงขึ้น สวนทางกับสิ่งที่เคยหาเสียงเอาไว้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการที่รัฐบาลบริหารงานผิดพลาดทั้งในเชิงการบริหารจัดการกองทุนน้ำมัน และหลักคิดในเรื่องต้นทุนพลังงาน รวมไปถึงบทบาทของปตท." นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ ดีเซล เพราะเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานในเรื่องของโลจิสติกส์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อขึ้นราคาผลกระทบจะไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้โดยตรง พอถึงจุดหนึ่งก็คือมันตีเป็นลูกโซ่ ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น ต้องประเมินผลกระทบให้ครบทั้งหมดว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งอาจมองข้ามไปบางจุด อย่างเช่น การขนส่งสินค้าต้องรวมไปถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มาประกอบกัน ไม่ใช่แค่สิ้นค้าปลายทาง

นอกจากนั้น เวลาคำนวนเราจะได้ยินเสมอว่าหน่วยงานต่าง ๆ บอกหากน้ำมันขึ้นเท่านี้ มีผลต่อต้นทุนแค่ 18 สตางค์ แต่ความจริงแล้วไม่มีสินค้าไหนขึ้นราคา 18 สตางค์ ส่วนใหญ่ปรับขึ้นกันทีละ 5 บาท หากเจอหลาย ๆ ต่อเข้าก็หนัก

"เพราะฉะนั้นเรื่องดีเซล เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า รัฐบาลต้องมองให้เห็นตรงนี้ แนวทางการอุ้มก็ไม่ใช่หลับหูหลับตาอุ้ม อย่างรัฐบาลที่แล้วพอกำหนดตกลงกันไว้กับผู้ประกอบการว่า 30 บาท เวลาราคาต่ำว่า 30 บาท ก็ตรึงไว้ 30 บาทก็ได้ แต่ต้องให้เกิดเสถียรภาพ และไม่ให้เกิดผลกระทบในเชิงของต้นทุน เพราะอย่างที่ทราบเวลาน้ำมันลง แต่อย่างอื่นไม่ได้ลงตามอยู่แล้ว"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีของก๊าซแอลพีจี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การควบคุมต้องดูแลเป็น 2 ระบบ คือก๊าซแอลพีจีสำหรับภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน เพื่อไม่ให้มีการนำก๊าซสำหรับภาคครัวเรือนไปใช้ในภาคขนส่ง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยหากถูกดัดแปลงไปใช้ในภาคขนส่ง นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากรัฐมนตรีคนเก่าในเรื่องการลอยตัวราคาก๊าซ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายของชาวบ้านที่คาดว่าจะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 2,000 บาทนั้นจะสูงขึ้นไปอีก

“กรณีของ แอลพีจี ซึ่งขณะนี้ไปว่าเรื่องขนส่ง เรื่องอุตสาหกรรมนั้น แต่ปัญหาที่รัฐบาลจะต้องไล่ตามดูก็คือว่า การควบคุมว่าถ้าหากแอลพีจีมี 2 ราคาระหว่างขนส่ง กับหุงต้ม ครัวเรือน แล้วจะดูแลไม่ให้มีการเอาของถูกไปใช้แทนของแพงได้อย่างไร เพราะของประเภทเดียวกัน จะดัดแปลงได้ไม่ยาก และมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยตามมา แต่ที่ผมยังยืนยันก็คือว่า ที่คำนวนเรื่องค่าใช้จ่ายของชาวบ้านจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 2,000 นั้น ยังไม่ได้นับรวมกรณีที่จะมีการขึ้นแอลพีจีที่เป็นแก๊สหุงต้มในบ้าน ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่ได้พูดชัดว่าจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากรัฐมนตรีคนเก่า ที่บอกว่าจะลอยตัว ซึ่งถ้าหากลอยตัวแล้ว ราคาแก๊สแต่ละถังก็จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ก็จะเป็นผลกระทบรุนแรงมากต่อต้นทุน ต่อค่าครองชีพ"

นายอภิสิทธิ์ ยังแนะนำให้ตรวจสอบราคาต้นทุนเอ็นจีวี โดยเฉพาะที่ ปตท. โดยตั้งข้อสังเกตว่าแม้ในการขายในภาคอุตสาหกรรมยังมีราคาต่างกัน รวมถึงไปถึงการตอบกระทู้ในสภา ฯ ของรัฐบาล ที่ระบุว่ามีแผนจะขายให้กับเอกชน ในที่สุดแล้วอาจเป็นการทำเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นของภาคเอกชน

“การขึ้นราคาอย่างกรณีเอ็นจีวีนั้น อยู่บนสมมติฐานที่รัฐบาลเชื่อตามที่ ปตท. บอกเรื่องต้นทุนของเอ็นจีวี ผมมีคณะทำงานศึกษาอย่างละเอียดทบทวนอีกครั้ง ก็ยืนยันได้ว่าความจริงแล้วสิ่งที่อ้างว่าเป็นต้นทุนเอ็นจีวีนั้นต้องมาตรวจสอบให้ชัดเจน แก๊สที่มีการซื้อขายกันโดยเฉพาะ ปตท.เองนั้น ไม่ได้มีการซื้อราคาในราคาเดียว เพราะขายภาคอุตสาหกรรมคนละราคากันหมด แต่เวลาที่อ้างว่าจะต้องมาดูแลประชาชน มันต้องขายต่ำกว่าราคาต้นทุน แต่ไปอ้างต้นทุนแบบนั้น ถ้าพูดแบบนั้นทำไมขายในเครือหรือขายกันเองในราคาที่ถูกกว่าได้ ตรงนี้ต้องเอามาดูทั้งหมด และในการตอบกระทู้ของรัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลตอบว่ามีแผนที่จะไปขายให้เอกชน เพราะอย่างนั้นก็ยิ่งชัดเข้าไปใหญ่ว่าทั้งหมดที่ทำ และกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 4 — 5 แสนล้านนั้น ในที่สุดก็คือเพื่อจะไปตอบแทนกับผู้ถือหุ้นที่เป็นภาคเอกชนที่เข้ามาซื้อรัฐวิสาหกิจ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ