รายงานข่าว แจ้งว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน(กยน.) ได้สรุปผลการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงวันที่ 13-17 ก.พ.โดยได้พิจารณาอนุมัติดำเนินการโครงการเพิ่มเติมเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน 117 โครงการ วงเงินงบประมาณ 4,998.55 ล้านบาท
ประกอบด้วย โครงการแก้มลิง โครงการเร่งการระบายน้ำ โครงการป้องกันพื้นที่สำคัญ โครงการถนนและคมนาคม โครงการอ่างเก็บน้ำ และโครงการอื่นๆ และได้เน้นให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ เร่งดำเนินการโครงการ FlagShip เพื่อเร่งการระบายน้ำ สร้างทำนบกั้นน้ำ ก่อสร้างและปรับปรุงแนวคันคอนกรีตบริเวณแนวคันพระราชดำริ เร่งทำความสะอาดท่อระบายน้ำในชุมชนส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งการติดตั้ง Barrier กั้นน้ำที่สามารถเคลื่อนย้ายนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้โดยสะดวกรวดเร็ว
พร้อมทั้งมอบหมายให้แต่ละจังหวัดทำการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของแต่ละจังหวัด รวมทั้งพื้นที่โบราณสถาน ให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดทำแผนและโครงการขุดลอกคู-คลอง และสร้างคั้นป้องกันโบราณสถานอย่างเร่งด่วน โดยให้ กยน.เป็นผู้กำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะๆ
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาถึงความสำคัญด้านภัยแล้ง โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมโครงการจัดหาน้ำบาดาล เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก
สำหรับโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและการผันน้ำ(Flood way) โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีงานที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน โดยกระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ และจังหวัดในกลุ่มปลายน้ำคือ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครปฐม และปทุมธานี
ส่วนการป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรมนั้นรัฐบาลมีแผนและงบประมาณจัดทำพื้นที่ปิดล้อมป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยการปรับปรุงคันที่มีอยู่แล้ว ทั้งในส่วนที่เป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก และคันดิน ให้สามารถป้องกันน้ำไม่ให้เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งปรับปรุง และเสริมให้แข็งแรงสามารถกันน้ำได้
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงคมนาคม ดำเนินการจัดทำแผนและโครงการโดยด่วน โดยให้ กยน.เป็นผู้กำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ
ทั้งนี้ กยน.ได้แบ่งกลุ่มการติดตามงานตามแผนแม่บทออกเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ รวม 31 จังหวัด ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำ ประกอบด้วย 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และพะเยา, พื้นที่กลางน้ำตอนบน ประกอบด้วย 6 จังหวัด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร และชัยนาท, พื้นที่กลางน้ำตอนล่าง ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และนครนายก และพื้นที่ปลายน้ำ ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี และกรุงเทพฯ