นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช....ต่อประธานรัฐสภา เนื่องจากขณะนี้ได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช.... ต่อรัฐสภาจำนวน 6 ร่าง
ประกอบด้วย 1.ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (โดยกระทรวงยุติธรรม) 2.ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย 3.ร่างที่เสนอโดยพรรคชาติไทยพัฒนา 4.ร่างของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการเข้าชื่อที่เสนอโดยนายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ 5.ร่างของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการเข้าชื่อที่เสนอโดยนายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ และ 6.ร่างของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการเข้าชื่อที่เสนอโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช....ทั้ง 6 ฉบับ ต่างกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ และมีที่มาจากการคัดเลือก โดยประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน โดยสสร.ทั้งสองส่วนมีจำนวนรวมตั้งแต่ 99-379 คน คปก.เห็นว่าประเด็นที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพราะหากที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกฝ่ายที่มีอุดมการณ์และความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมมากขึ้น
ดังนั้นคปก.เห็นว่าควรมีหลักการ ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไข 3 ข้อ คือ
1.การกำหนดที่มาของสสร.ควรอยู่บนพื้นฐานความต้องการ และเป็นหลักประกันเพื่อให้สสร.มีความหลากหลายของบุคคลที่มีความแตกต่างในความคิดเห็น หรือกลุ่มทางการเมืองให้มากที่สุด โดยควรกำหนดให้จำนวนสสร.มีจำนวนตามสัดส่วนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เท่าเทียมกัน โดยกำหนดเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ซึ่งจะทำให้หนึ่งจังหวัดมีสสร.ได้หลายคนตามสัดส่วนจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
2.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... แต่ละฉบับ ต่างกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และให้ลงประชามติหลังจากที่สสร. ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ของพรรคชาติไทยพัฒนากำหนดให้ทำประชามติเฉพาะกรณีที่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....)
คปก.เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการทำประชามติเป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นต้องมี หากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรกำหนดให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติเป็นช่องทางของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน ขณะเดียวกันในการกำหนดระยะเวลาสำหรับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการไม่ควรเร่งรัดระยะเวลาให้สั้นเกินไปอย่างที่เสนอไว้ 180 หรือ 240 วัน แต่ควรเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่านั้น คือ 300 วัน
3.ตามที่ได้รับคำชี้แจงจากตัวแทนกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา และผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้ทราบว่า รัฐสภามีกำหนดการจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช....ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งจะทำให้การพิจารณาของรัฐสภาจำกัดอยู่เฉพาะร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเท่านั้น เนื่องจากร่างของภาคประชาชนทั้ง 3 ฉบับที่เสนอต่อประธานรัฐสภายังไม่ได้รับการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอ
คปก.มีความเห็นว่า รัฐสภาควรปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และถือเป็นความรับผิดชอบต่อเจตจำนงของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญในการสนองตอบต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมาย
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงขอเสนอให้ประธานรัฐสภาเลื่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ออกไปก่อน เพื่อรอให้กระบวนการตรวจสอบรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....ของประชาชนทั้ง 3 ฉบับแล้วเสร็จ เพื่อที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....โดยภาคประชาชนมีโอกาสได้รับการพิจารณาด้วย
อย่างไรก็ตาม คปก.เห็นว่าประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาแนวทางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกันจนนำไปสู่ปัญหาด้านต่างๆ รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความรุนแรง ลึกซึ้งและกว้างขวางระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ยังคงดำรงอยู่และยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงได้ แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย
จึงเห็นว่า การเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ทุกฉบับโดยรัฐสภา และการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่หากเกิดขึ้น โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรมีเจตจำนงที่มุ่งไปเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงและเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ไม่ใช่เป็นไปโดยมุ่งประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวและจะเป็นการเพิ่มปัญหาความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น
อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา81(3) บัญญัติให้มีกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย ซึ่งต่อมามีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีอำนาจในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบกับมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน