นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์ เรื่อง "หยุดนิติกรรมอำพรางล้มล้างรัฐธรรมนูญยึดอำนาจประเทศไทย" โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกและเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) 99 คน และจะนำไปสู่การลงประชามติ โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 23 ก.พ.55 นั้น
ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ ลงมติเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางกำหนดวางคุณสมบัติ ส.ส.ร.ไว้เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับในขั้นแรก และเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขั้นต่อไป จึงเข้าข่ายลักษณะการรัฐประหารประเทศไทย และยึดอำนาจประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญให้ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเผด็จการรัฐสภา
ทั้งนี้ที่มาของ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คนที่จะประกอบไปด้วย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และ ส.ส.ร ที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คนนั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่นิติกรรมอำพรางเพื่อให้ ส.ส.ร.ส่วนใหญ่นั้นมาจากเครือข่ายของนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น
"การคัดเลือกบุคคลเหล่านี้แท้จริงแล้ว ก็เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักของนักการเมืองในระบอบเผด็จการทุนสามานย์โดยเจ้าของพรรคการเมือง 2 ประการคือ 1.ล้างความผิดในอดีตของเจ้าของพรรคการเมืองและพวก 2.กระชับอำนาจให้กับตัวเองและพวกพ้องในอนาคตให้เบ็ดเสร็จขาดมากยิ่งขึ้น" เอกสารแถลงการณ์ ระบุ
ดังนั้นความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จึงเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันถือเป็นการเข้ายึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อล้างความผิดในอดีตและกระชับอำนาจให้กับนักการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สุขของนักการเมืองไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนใดๆทั้งสิ้น อันเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนทั้งจากปัญหาราคา สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงสูงขึ้นมาก ราคาน้ำมันและพลังงานสูงขึ้นจากการผูกขาดและหาผลประโยชน์จาก ปตท. การเยียวยาจากผู้ประสบอุทกภัยที่ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ และยังไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ฯลฯ
นอกจากนั้น ร่างที่จัดทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้ ยังจัดทำขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้มีมติของมหาชนเสียก่อนว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 291" ต้องเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 136(16) โดยรัฐสภาต้องร่วมประชุมกันหากมีความคิดหรือมีปัญหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้ยุติเสียก่อน หาใช่จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเลยนั้นไม่อาจทำได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเห็นควรดำเนินการดังนี้
1.ให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอนและ/หรือยุบพรรค ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดำเนินการต่อไป
2.ขอเชิญแกนนำ ผู้ประสานงาน และตัวแทนพันธมิตรฯ ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทุกกลุ่ม ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือและลุกขึ้นต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเตรียมพร้อมเคลื่อนมวลชนชุมนุมทันทีหากพบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือมีการลบล้างความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้องในอดีต และเตรียมการรณรงค์เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ต่อไป โดยจะจัดให้มีการประชุมในวันเสาร์ที่ 10 มี.ค. 55 เวลา 10.00 น. โดยจะแจ้งสถานที่ให้ทราบอีกครั้ง