ครม.มอบหมายกฤษฎีกา-ปปง.หารือข้อกฎหมายฟอกเงินหลังถูกขึ้นแบล็คลิสต์

ข่าวการเมือง Wednesday February 22, 2012 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2 ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการหยิบยกกรณีคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (FATF)กำหนดรายชื่อประเทศไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศ ที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมกำหนดให้เป็นประเทศต้องเฝ้าระวังทางการฟอกเงินและการสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้าย เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการให้มีการผลักดันกฎหมายต่อต้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งเป็นการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ไปทำข้อตกลงตั้งแต่รัฐบาลที่ที่แล้ว และอยู่ในระหว่างพิจารณาของ ปปง.ในประเด็นข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานของประเทศไทยนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้แล้ว จากนั้นได้มีการการแก้ไขเพิ่มเติม โดยครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 และครั้งที่ 3 ปี 2553 และได้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

แต่มีข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2553 FATF ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ยกระดับการดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่ง รมว.ยุติธรรมในขณะนั้นทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ แนบปฏิบัติการ รวมถึงการดำเนินการยกร่างกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. .... และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. .... ซึ่งขณะนั้นเหตุใดเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลจึงไม่เร่งชี้แจงแก้ไขหลักกฎหมาย 2 ฉบับเข้าสภาฯ ปล่อยให้ FATF ลดลำดับในเรื่องดังกล่าว

ดังนั้น ในวันนี้ ครม.จึงได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและ ป.ปง. พิจารณาข้อกฎหมายร่วมกันว่ามีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องมีกฎหมายใหม่ เนื่องจากในขณะนี้มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการก่อการร้ายอยู่หลายฉบับ และหากจำเป็นต้องมีกฎหมายจะต้องพิจารณาทั้งการให้ความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ ขณะเดียวกันต้องคุ้มครองให้มีความเป็นธรรมแก่บุคคลที่จะถูกบังคับ

กฎหมายที่จะกำหนดขึ้นใหม่ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ