นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรอบและแนวทางการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 2 ในส่วนของกรรมาธิการวิสามัญของ ปชป.ว่า ขั้นตอนต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาทุกมาตรา ซึ่งจะไปไล่ดูทุกมาตรา คำต่อคำ แก้ไขกันโดยประชุมกันในคณะกรรมาธิการฯ โดยจะเริ่มต้นประชุมกันได้ในวันที่ 29 ก.พ.นี้
ขณะเดียวกันนั้นหากกรรมาธิการ ส.ส. หรือ ส.ว.คนใดอยากจะแก้ไขร่างตัวนี้โดยไม่ขัดกับหลักการก็สามารถที่จะเสนอข้อแก้ไขที่จะบังคับแปรญัตติได้ภายใน 1 เดือน หรือ 30 วัน หลังจากนั้นเมื่อกรรมาธิการพิจารณาการแก้ไขทั้งหลายที่มีการเสนอเสร็จแล้วก่อนจะเสนอกลับมาที่ประชุมสภาฯ
"ขณะนี้จะทำ 2 อย่าง ขั้นแรกเรามีคณะกรรมาธิการ 11 ท่าน ซึ่งได้แต่งตั้งไปแล้ว ที่เข้าไปร่วมพิจารณาตรงนี้ ซึ่งก็คงจะได้ถือหลักตามที่สมาชิกได้อภิปรายไปในช่วง 2 วันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกันนั้นสมาชิกคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการก็คงเสนอข้อแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติม" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้า ปชป.คาดว่า จะมีคำแปรญัตติหลัก 2 กลุ่ม โดยในภาพรวมมีข้อห่วงใยที่เรากังวลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งด้วยปัญหาวาระแอบแฝง เพราะฉะนั้นในกลุ่มนี้ก็ขอยกตัวอย่างว่า ก็คงจะมีการแปรญัตติในทำนองว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะต้องยึดเอาหมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นบทหลักที่เกี่ยวกับประเทศของเราให้เข้าไปบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการแก้ไข ส่วนถ้อยคำจะใช้อย่างไรก็อาจจะเป็นแล้วแต่สมาชิกแต่ละท่านที่จะเสนอเข้าไป
นอกจากนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีหลักประกันในเรื่องของความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราเป็นห่วงกันมาก เพราะว่าในเหตุผลที่ทางพรรครัฐบาลเสนอนั้น พูดทำนองว่า ที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพราะศาล เป็นเพราะองค์กรอิสระต่างๆ มีอำนาจมากเกินไป ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่ แล้วมองค่อนข้างจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำว่าคนที่ต้องการได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลในขณะนี้น่าจะเป็นฝ่ายการเมืองมากกว่า เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ 2 ในกลุ่มนี้
หัวหน้า ปชป. กล่าวว่า ประเด็นเรื่องไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกใช้ไปในลักษณะของการไปนิรโทษกรรม ซึ่งก็คงจะเขียนได้หลายแบบว่าจะเป็นการที่บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือการจัดทำนั้นต้องไม่ไปเป็นการไปล้มล้างคำพิพากษาของศาล หรือว่าจะต้องไม่ไปเป็นเรื่องของการที่จะไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใดทำนองนี้
ดังนั้นการแปรญัตติในลักษณะอย่างนี้ก็คงจะมีกัน แต่ตนเองไม่แน่ใจว่าสมาชิกเรา 100 กว่าคนนี้จะเสนอเข้าไปอย่างไร ทีนี้ตรงนี้ผมคิดว่าจะเป็นหัวใจสำคัญเพราะว่า ที่ผ่านมานั้นในการอภิปราย พอเรารุกในประเด็นเหล่านี้แล้ว รัฐบาลก็พยายามจะตอบว่า ไม่ได้มีปัญหา เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทำอะไรที่ไม่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเป็นเพียงคำพูดหรือคำสัญญา มันยังไม่ใช่สิ่งที่บัญญัติลงไปในตัวรัฐธรรมนูญแก้ไขอันนี้
"ผมคิดว่าคำตอบที่เป็นคำตอบมาตรฐานที่สุดของทางฝ่ายรัฐบาลก็คือที่บอกว่าเป็นเรื่องของ ส.ส.ร. เดี๋ยวเลือกมาแล้วเขาก็จะไปพิจารณากันเองนั้น เราก็บอกว่า อันนั้นจะนำสังคมสู่ความขัดแย้ง ถ้าหากเราสามารถที่จะทำได้ตั้งแต่ต้นทำไมไม่ทำ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้า ปชป.กล่าวว่า เพราะฉะนั้นเราจะแปรญัตติในลักษณะอย่างนี้แล้วในการพิจารณาของกรรมาธิการก็ดี ของทางสภาในวาระที่ 2 ต่อไปก็ดี เมื่อกรรมาธิการทำงานเสร็จ ตรงนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลจริงใจหรือไม่จริงใจ เพราะยังมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมการแปรญัตติอย่างนี้ในเมื่อรัฐบาลเองบอกว่า ก็ไม่ได้ขัดข้องในหลักการเหล่านี้อยู่แล้ว
"ก็จะได้ดูครับว่า เมื่อถึงเวลาจะเขียนลงไปบังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญเลยนั้นจะยอมหรือไม่ยอม ผมว่าถ้ายอม ประเด็นอื่นเป็นเรื่องรองแล้ว ถ้าเขียนลงไปอย่างนี้ ผมว่าทุกคนก็มีความสบายใจกันมากขึ้น ความกังวลเรื่องความขัดแย้งก็จะลดลงไป ทุกอย่างน่าจะไปในแนวทางที่ดี ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ยอม ผมว่ามันก็จะชัดขึ้น ที่อ้างว่าจะไม่อย่างนั้น ไม่อย่างนี้ มันไม่ได้มีความจริงใจ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้า ปชป.กล่าวว่า การแปรญัตติก็ควรลงรายละเอียด เช่น ที่เราตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ ส.ส.ร.ว่าถ้าเลือกตั้งมาจังหวัดละคน จะทำให้เกิดปัญหาตกอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมืองหรือไม่ ทำไมไม่ใช้สูตรอื่นในการทำให้ ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งก็เป็นหลักการที่ตนเองคิดว่าคนก็สนับสนุนกัน แต่เลือกตั้งโดยออกแบบระบบเลือกตั้งให้มีความหลายหลาย หรือเราพูดถึงประเด็นว่า ส.ส.ร. ส่วนที่เป็นการสรรหาหรือคัดเลือก ซึ่งในร่างอื่นๆ หรือในอดีตตอนที่ทำรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น องค์กรที่ส่งชื่อขึ้นมาจะเป็นองค์กรทางวิชาการ สถาบันการศึกษาต่างๆ
"ผมคิดว่าตรงนี้คนก็มั่นใจ เพราะว่าระบบการบริหารจัดการตัวองค์กรก็ชัดเจน แต่ร่างรัฐบาลนั้นจะเติมว่า คนมีสิทธิ์เสนอนั้นยังเป็นองค์กรเอกชน องค์กรเศรษฐกิจ สังคมอะไรต่างๆ ได้ ซึ่งเราไม่รู้ว่าคือใคร แล้วก็ร่างของรัฐบาลก็บอกว่า ตรงนี้คนที่จะกำหนดคือประธานสภาคนเดียว ตรงนี้ผมคิดว่าต้องแก้ไข ถ้าไม่ยกออกไปเลย ก็ต้องมีวิธีการในการวางหลักเกณฑ์ว่าองค์กรจะเป็นอย่างไร แล้วก็ลักษณะต้องห้ามซึ่งเราแปลกใจมากก็คือว่า ในกฎหมายต่างๆ ที่เขียนกันนั้น ปกติก็จะล้อตามข้อห้ามคนที่จะไม่ไปสมัคร ส.ส.ข้อนึงก็คือที่เคยติดคุกมาแล้วยังพ้นโทษไม่เกิน 5 ปี
"เป็นครั้งแรกที่เขียนกฎหมายถึงขั้นเขียนรัฐธรรมนูญกันบอกว่า คนที่ติดคุกมานั้นแต่ยังพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี สามารถที่จะลงสมัครได้ ไม่รู้ว่าทำไมนะครับ เป็นห่วงใครหรืออย่างไร ตรงนี้ก็เป็นรายละเอียดที่ผมยกเป็นตัวอย่าง รวมไปถึงระยะเวลา 180 วันสั้นไปไหม แต่ละขั้นตอนที่มีการกำหนดกัน แล้วก็มีจุดหนึ่งที่เป็นความแตกต่างก็คือ ร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา เขาบอกทำเสร็จแล้วต้องให้สภาฯ มาเห็นชอบก่อน แต่ฉบับอื่นก็ส่งไปประชามติเลย ตรงนี้ก็คงจะต้องไปเสนอข้อแก้ไขกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ส.ส.ร.กับประชาชนที่ลงประชามตินั้นจะเป็นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ดังนั้นอยากจะให้ช่วยกันติดตาม และคิดว่าประชาชนที่เป็นห่วงเป็นใยเรื่องนี้สามารถเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ได้ เพราะเรามีเวลาในการตัดสินใจในเรื่องของการแปรญัตติ
"ผมก็คุยกับหลายๆ คนตรงนี้เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา บางท่านก็บอกว่าน่าจะห้ามด้วยนะ คนมาเป็น ส.ส.ร.นั้นห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไปสัก 5 ปี จะได้มั่นใจไปเลยว่าไม่มีใครมาเขียนเพื่อตัวเอง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับการตั้งกรรมาธิการในส่วนของ ส.ว. นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นชุดเดียวกันทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถ้าจำไม่ผิดสูตรก็คือ 45 คน ส.ว.น่าจะมีอยู่ 10 คน แล้วก็ตามสัดส่วน เพื่อไทยก็ได้ 19 ประชาธิปัตย์ได้ 11 ที่เหลือก็เป็นพรรคอื่นๆ และในชั้นแปรญัตติคงไปพูดอะไรล่วงหน้าไม่ได้
"ผมก็หวังว่าเราจะว่ากันด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ว่ากันด้วยเรื่องพวก เพราะเรื่องนี้เรื่องใหญ่ และผมว่าไม่มีใครปรารถนาจะเห็นความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ผมรู้สึกว่าจากการสำรวจความคิดเห็นอะไรต่างๆ ก็เป็นความกังวลระดับหนึ่งอยู่ว่าจะขัดแย้งกันเรื่องนี้กันเพื่ออะไร แต่ว่าเรามาช่วยกันทำให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นผมก็หวังไว้ส่วนหนึ่ง และส่วนที่สอง ผมคิดว่ากระแสสังคม ถ้าเราบอกว่าหลักการที่ผมเสนอ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการสร้างหลักประกันว่าไม่ไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์แล้ว เป็นสิ่งที่สังคมต้องการก็ต้องช่วยกันส่งเสียงดังๆ หน่อย เพราะว่าพอวาระที่สองแล้ว ผมว่าสมาชิกรัฐสภาก็จะต้องฟังสังคมเหมือนกันในการตัดสินใจตรงนี้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้า ปชป.กล่าวว่า ผลโพลล์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งนั้น เป็นตัวบ่งบอกให้รัฐบาลต้องตระหนักและรับฟังเสียงของประชาชน เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะมาสร้างความปมความขัดแย้งกันใหม่ ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลตระหนักตรงนี้ก็ช่วงนี้ก็เป็นจุดที่จะต้องมาฟังเสียงกันว่าจะต้องทำอย่างไร และจากนี้ไปทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงออก แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และควรหลีกเลี่ยงความรุนแรง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ตั้งสติ เพื่อไม่ให้สังคมไหลเข้าสู่ความขัดแย้ง
"ผมก็ยืนยันว่าสิทธิของการแสดงออกทุกคนมีแน่นอน แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ของกฎหมาย และเราก็ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรง เพราะความรุนแรงก็จะไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดทั้งสิ้น ไม่เป็นผลดีกับส่วนรวม ประชาชนก็จะเดือดร้อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมก็ยังเรียกร้องว่าตั้งสติกันหน่อยนะครับ เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วสังคมก็จะไหลเข้าสู่ความขัดแย้ง ผมพูดว่า ให้สังคมมีสตินั้น ผมก็กังวลนิดหน่อยว่า ตอนสมาชิกสภา ประชุมกันก็ไม่ใช่มีสติกันทุกคน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว