คกก.แท็ปเล็ต นัดลงมติเคาะเลือกบริษัทผู้ผลิตจากจีน 1 ใน 4 ราย 5 มี.ค.

ข่าวการเมือง Friday March 2, 2012 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายแท็ปเล็ต ป.1 ที่มี นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เตรียมประชุมในวันที่ 5 มี.ค.นี้ เพื่อคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตแท็ปเล็ตที่ทางรัฐบาลจีนได้เสนอชื่อบริษัทที่สามารถผลิตแท็ปเล็ตได้ตามคุณสมบัติที่รัฐบาลกำหนดแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี, บริษัท ทีซีแอล, บริษัท ไฮเออร์ และบริษัท สโคป

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องคุณสมบัติแท็ปเล็ตจะเดินทางไปประเทศจีนช่วงวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ เพื่อศึกษารายละเอียดของทั้ง 4 บริษัท ก่อนจะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเลือกบริษัทผู้ผลิตเพียงรายเดียว เพื่อสามารถต่อรองราคาต่อเครื่องให้ต่ำลงได้อีกจากที่กำหนดไว้เครื่องละ 3,100 บาท หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 6 มี.ค.ต่อไป

สำหรับคุณสมบัติแท็ปเล็ตที่รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้รัฐบาลจีนจัดหาผู้ผลิตยังคงเป็นไปตามเดิม คือ หน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 16 กิกะไบต์ หน่วยประมวลผลกลาง(ซีพียู) แบบดูอัลคอร์ ไม่ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิร์ตซ และหน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 เมกะไบต์ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.2(Honeycomb ) และรองรับแอนดรอยด์ 4.0(Ice Cream Sandwich)ได้

โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ ที่เน้นกระจายการใช้งานทั้งเรื่องอปุกรณ์และโครงข่ายให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมภายในปี 2558 มุ่งลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีให้เหลือ 3%ของรายได้ประชากร จากปัจจุบันอยู่ในอัตรา 6.5% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย มีค่าใช้จ่ายด้านนี้เพียง 1% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเพิ่มจีดีพีของประเทศได้มากขึ้น โดยจากผลการวิจัยของบริษัทระดับโลกชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ทุกการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์) จะช่วยเพิ่มจีดีพีอีก 1.38% และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลต่อจากนี้ คือ การลงทุนซ้ำซ้อนด้านโครงข่ายจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก รวมทั้งจะสามารถทำให้อันดับการน่าลงทุนด้านไอซีทีของไทยขยับสูงมาอยู่ที่อันดับ 34 ภายในปี 2558 หลังจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอันดับไอซีทีของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 37 ตกไปเป็น 49 และ 59 เมื่อปีที่ผ่านมา สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่อันดับขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 37 แทนประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ