นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ R&I ได้ยืนยันสถานะอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ BBB และ BBB+ ตามลำดับ และคงสถานะแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทย(Outlook)ที่ระดับมีเสถียรภาพ(Stable)
นอกจากนี้ R&I ยังยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ a-2 ด้วยเหตุผลจากการที่เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤตน้ำท่วม แต่ยังคงจับตามองถึงการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป
"ที่ผ่านมาประเทศไทยยังสามารถดำรงดุลบัญชีเดินสะพัดให้เกินดุลในขณะที่การบริหารจัดการทางการคลังยังคงมีความแข็งแกร่ง และมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองในภาคประชาชนไม่เป็นปัญหาต่อการฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำท่วม" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
ทั้งนี้ R&I ชี้ว่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.54 ทำให้ภาคการผลิตชะลอตัวและภาคการส่งออกลดลงจนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 54 ลดลงเหลือร้อยละ 0.1 แต่การฟื้นฟูฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของไทยน่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโตในอัตราที่สูงอีกครั้งในปี 55 ที่ร้อยละ 4.9 ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
และถึงแม้วิกฤตน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีมาตรการรองรับเหตุการณ์น้ำท่วมไม่เพียงพอ แต่บริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศมีเพียงไม่กี่รายเนื่องจากยังคงมีแรงดึงดูดจากอุตสาหกรรมสนับสนุน(Supporting Industries) ที่ได้รับการพัฒนาแล้วของไทย ซึ่งประเทศไทยควรให้ความสนใจต่อแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอย่างมาก สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคยุโรปที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤตหนี้มีเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกรวม จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทย รวมถึงมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ในเดือน พ.ย.54 ยังทำให้ R&I เห็นความตั้งใจในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ถึงแม้ว่าความจำเป็นในการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อใช้กระตุ้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความกังวลต่อการใช้จ่ายของภาครัฐที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจนเกินควรนั้นมีเพียงเล็กน้อยเนื่องจากกรอบการก่อหนี้สาธารณะที่เข้มงวดภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ดังจะเห็นได้จากช่วงหลังวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ (Lehman Brothers) การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 3 ของ GDP และยังคงมีการดำเนินนโยบายทางการคลังแบบอนุรักษ์นิยม โดย ณ สิ้นเดือน พ.ย.54 ยอดคงค้างหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 40.5
อย่างไรก็ดี ภาระทางการคลังในอนาคตอาจจะมีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการทางสังคมเพื่อลดช่องว่างของรายได้ซึ่งเป็นฐานรากของความขัดแย้งทางการเมือง อีกทั้งการลงทุนตามมาตรการรองรับเหตุการณ์น้ำท่วมและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการทางการคลังเพื่อดำรงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นพร้อมกับการรักษาวินัยทางการคลังจึงเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้
นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อต้านยังคงต้องเฝ้าระวัง ซึ่ง R&I เชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจของไทย ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลในช่วงวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถป้องกันเหตุการณ์ยึดอำนาจและการรุกฮือทางการเมืองได้ตั้งแต่เข้ามาดำเนินงานในเดือน ส.ค.54 ทั้งนี้ปัญหาโครงสร้างทางสังคมของประเทศ เช่น ความแตกต่างของระดับรายได้ระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทยังไม่ถูกขจัด รวมถึงปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการเดินทางกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง
"แม้จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีกครั้ง R&I ยังคงเห็นว่า นโยบายดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลที่นักลงทุนชาวต่างชาติให้การพิจารณาในแง่บวกจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และประเทศไทยน่าจะยังรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจไว้ได้" นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว