นายกฯนำคณะแจงนักธุรกิจญี่ปุ่นมั่นใจศักยภาพด้านการค้า-ลงทุนของประเทศไทย

ข่าวการเมือง Wednesday March 7, 2012 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจชี้แจงภาคเอกชนญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันอุทกภัยในอนาคตที่ชัดเจน และย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนและการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการใช้ไทยเป็นฐานเพื่อการส่งออกไปยังประเทศอื่น

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานสัมมนานักธุรกิจที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีนักธุรกิจและนักลงทุนของญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยและสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,200 คน

สำหรับผู้ที่ร่วมเดินทางไปเยือนประเทศญี่ป่นกับนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม นางนลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนภาคเอกชน ประกอบด้วย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย บริษัท สามมิตรกรีนพาวเวอร์ จำกัด กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท บริษัท โตชิบาไทยแลนด์ บริษัท เบทาโกร บริษัท สหฟาร์ม บริษัท ไออาร์พีซี และบริษัทเอกชนที่ต้องการขยายธุรกิจกับนักลงทุนญี่ปุ่น

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศเก่าที่เชื่อมอนาคตทางเศรษฐกิจเอาไว้ด้วยกัน มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ 125 ปีที่แล้ว จนกระทั่งกลายเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ผ่านการร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) และในทุกวันนี้ประเทศญี่ปุ่นและภาคเอกชนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยพัฒนาประเทศไทย

สำหรับประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีปริมาณการส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8.3 และยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีการลงทุนจากญี่ปุ่นได้ยืนขอรับสิทธิประโยชน์จาก BOI ร้อยละ 49 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังได้มีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการออกแบบสินค้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้รัฐสภาของไทยเพิ่งได้อนุมัติให้มีการขยายการเจรจาภายใต้ความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) เพิ่มอีก 5 สาขา ได้แก่ การค้า(trade) กฎแหล่งกำเนิดสินค้า(rules of origin) การบริการ(services) การลงทุน(investment) และการดำเนินการภายใต้ข้อผูกพันของ JTEPA(implementing JTEPA commitments)

ขณะที่ไทยและญี่ปุ่นต่างมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ และต่อไปโลกจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้การรวมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยญี่ปุ่นเองเสมือนตัวเชื่อมหลักในการเร่งปฏิกริยาการเติบโตและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นกลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของภูมิภาคนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ในปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างได้รับความสูญสียจากเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรง แต่ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ทำให้เราสามารถผ่านพ้นภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ไปได้ ซึ่งประเทศไทยขอขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือและความมั่นใจจากประเทศญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า หากเราสองประเทศร่วมมือกันแล้ว ประเทศไทยย่อมจะแข็งแกร่งและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นและมีศักยภาพมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยมีข้อเสนอที่ชาติอื่นไม่สามารถแข่งด้วยได้ และมีโอกาสแห่งการลงทุนที่ไม่มีชาติใดเทียบเคียงได้ พร้อมกับการเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งกับญี่ปุ่น-An Unbeatable Thailand with Unparalleled Opportunities

ประการแรก รัฐบาลได้วางระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันนิคมอุตสาหกรรมและเขตชุมชน โดยรัฐบาลจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอุทกภัยและความเสียหายรุนแรงดังในปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีมาตรการในการป้องกัน ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ในปีนี้ได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 18,000 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า แผนการบริหารน้ำทั้งระบบจะถูกนำมาใช้ทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่และจุดสำคัญต่างๆตามแผนที่วางไว้ด้วยตนเอง และมีการหารือทำความเข้าใจกับคนในชุมชน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และโครงการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จ ในขณะนี้เขื่อนและทำนบต่างๆ ได้รับการสร้างและซ่อมแซมให้มีความแข็งแกร่งขึ้น ขณะเดียวกันเรากำลังสร้างแนวคันกันน้ำเพื่อป้องกันบริเวณรอบเขตนิคมอุตสาหกรรม มีการยกระดับถนนให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าและบริการได้ หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นอีก ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและการขนส่งจะไม่ติดขัด

นอกจากนี้จะมีการสร้างที่เก็บกักน้ำ คลองและแหล่งน้ำต่างๆจะได้รับการขุดลอก และมีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการประกันภัยให้แก่บริษัทที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อบูรณาการองค์ประกอบต่างๆให้ตอบสนองอย่างทันเวลา โดยในระยะยาว จะมีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ อย่างยั่งยืนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า หากนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนในอนาคตกับประเทศไทย รัฐบาลจะปกป้องการลงทุนของท่านจากน้ำท่วม

ประการที่ 2 ประเทศไทยมีนโยบายที่สนับสนุนการผลิตและเศรษฐกิจแบบพลวัตร ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นหุ้นส่วนกับนักลงทุนต่างชาติที่มีการเชื่อมโยงในภูมิภาคและโลก ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีแรงงานที่มีฝีมือ และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มั่นคง นั่นคือเหตุผลที่แม้จะมีเหตุอุทกภัยเกิดขึ้น ยังมีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ของไทยจะเพิ่มขึ้น คือประมาณร้อยละ 5 และในปี 2013 เป็นประมาณร้อยละ 5.6 ถึงแม้จะมีอุทกภัยดังกล่าวในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยกว่า 1.1 ล้านคน เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลยังมีมาตรการเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในปีนี้ และจะลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปีถัดไป นอกจากนี้ ประเทศไทยจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทยได้อย่างสะดวกมากขึ้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้มีประสิทธิผลและทนต่อภัยพิบัติในระยะยาว และจะมีการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ อาทิ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย การเพิ่มความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และต่อไปยังภูมิภาคอื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าของการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงด้านการคมนาคมในภูมิภาคนี้อีกด้วย ทุกวันนี้ เส้นทางคมนาคมลุ่มแม่น้ำโขงทิศตะวันออก ไปยังทิศตะวันตก เหนือจรดใต้ ประตูเศรษฐกิจทางใต้ ที่มีการเชื่อมโยงผ่านถนน ทางรถไฟ เส้นทางเครือข่าย กำลังจะเห็นเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้ โดยมีการสนับสนุนผ่านแผนแม่บทเชื่อมโยงเครือข่ายอาเซียนและเครือข่ายหุ้นส่วนเอเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งไทยเป็นประเทศเริ่มต้นในการนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคนั่นคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ประเทศไทยร่วมมือกับประเทศเมียนมาร์ในการพัฒนา ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเจริญเติบโตและการพัฒนาในประเทศเมียนมาร์เท่านั้น แต่ยังจะช่วยขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยและภูมิภาคในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

ประการที่ 3 ประเทศไทยยังเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นกับประเทศอื่นในอาเซียน ตลาดอาเซียนเป็นตลาดเดียวขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน หรือ GDP รวมกันประมาณ 143.4 ล้านล้านเยน และมีค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งประชาคมอาเซียนเปิดโอกาสสำหรับการเติบโตในภูมิภาค ทั้งด้านการขนส่ง พลังงาน สุขภาพ การท่องเที่ยวและการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นในหลายอุตสาหกรรม จึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อพลวัตรการเจริญเติบโตของประชาคมอาเซียนและการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ประเทศไทยยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน และเชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายที่สนับสนุนการลงทุน ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ เช่นนี้ ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นจะยังคงเติบโต โดยมีภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นเสาหลักของการเป็นหุ้นส่วนในอนาคตที่จะถึงนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ