นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เปิดเผยว่าที่ประชุม กกต.เมื้อวันที่ 8 มี.ค.55 ได้พิจารณากรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาส.ว.ได้ร้องคัดค้านการสรรหาส.ว.ของผู้ได้รับการสรรหาเป็นส.ว. 31 รายเคยเป็นส.ว.สรรหาและลาออกก่อนครบวาระ ซึ่งนายเรืองไกรได้ยื่นคำร้องเข้ามาพิจารณาพร้อมกับการที่กกต.ได้เพิกถอนสิทธิการสรรหา ส.ว.ของนายสัก กอแสงเรือง แล้ว
โดยที่ประชุมกกต.ได้มีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้องในประเด็นที่นายเรืองไกรได้ร้องคัดค้านว่า ส.ว. 31 รายที่เคยได้รับการสรรหาเป็นส.ว.ชุดแรกแต่ลาออกก่อนครบวาระ 3 ปีแรก ไม่อาจนำบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 มาบังคับใช้ซึ่งอาจมีผลให้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115 (9)ที่ยังพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่เกิน 5 ปีจนถึงวันได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาส.ว.
และได้ยกคำร้องกรณีอาจขาดคุณสมบัติ เนื่องจากพิจารณาตามบทเฉพาะของรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 ที่กำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีวาระ 3 ปีและมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระมาบังคับใช้กับบุคคลดังกล่าวในการสรรหาคราวถัดไปหลังจากสิ้นสุดสมาชิกภาพ ดังนั้น ส.ว.สรรหา 31 รายที่ได้รับการสรรหาแต่ได้ลาออกก่อนครบวาระเพื่อเข้ารับการเสนอชื่อสรรหาส.ว.เมื่อปี 2554 จึงยังเข้ากับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ สามารถเข้ารับการสรรหาต่อไปได้เช่นเดียวกับการที่ส.ว.สรรหาชุดแรกอยู่จนครบวาระจนพ้นตำแหน่งก็ยังสามารถได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาได้อีก
ส่วนกรณี นายสัก ที่ กกต.ให้เพิกถอนการสรรหา เป็นการพิจารณาคนละประเด็นกันกับ 31 ส.ว. เพราะนายเรืองไกรได้ร้องว่านายสักยังพ้นจากส.ว.เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อจากสภาทนายความยังไม่เกิน 5 ปี ทำให้กกต.มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนการสรรหาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีซึ่งเหมือนกับการที่กกต.ให้ใบแดง(เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง)ส.ส.หลังการประกาศผลการเลือกตั้ง และเมื่อศาลฎีการับคำร้องจากกกต.แล้วก็จะมีผลให้นายสักต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ว.จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ส่วนกรณีที่กกต.มีมติเสียงข้างมากให้ดำเนินคดีอาญากับนายสักและสภาทนายความนั้นเนื่องจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยบางคณะเห็นว่าผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเป็นผู้รู้กฎหมายดีเมื่อรู้กฎหมายมากแล้วเลี่ยงกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญา
"เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการสรรหาส.ว.จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการสรรหาส.ว. อีกทั้ง กกต.โดยเลขาธิการกกต.ทำหน้าที่ธุรการในการตรวจสอบองค์กรที่ได้เสนอชื่อบุคคลและจะต้องเสนอผลการตรวจสอบคุณสมบัติไปยังกรรมการสรรหาส.ว.6 คน ซึ่งกรณีของนายสักก็อาจมีคนมองว่าละเลยในแง่การตรวจสอบ ส่วน กกต.โดยเลขาธิการกกต.จะเลยหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยยืนตามกกต.ก็อาจมองว่ากรรมการสรรหาส.ว.ได้ละเลยการตรวจสอบได้หรือไม่ แต่หากจะให้ฟ้องกกต.4 คนที่วินิจฉัยก็คงไม่เกี่ยว เพราะกกต.ได้พิจารณาตามที่มีผู้ร้องคัดค้านเข้ามาเท่านั้น" นางสดศรี กล่าว