กมธ.ปรองดองฯ เห็นชอบผลวิจัยสถาบันพระปกเกล้า แต่ยังไม่ลงมติเลือกแนวทาง

ข่าวการเมือง Tuesday March 13, 2012 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ เห็นชอบผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า แต่ยังไม่ลงมติเลือกแนวทาง โดยให้ กมธ.แต่ละคนไปทำความเห็นประกอบก่อนสรุปความเห็นส่งให้ที่ประชุมสภาฯ ตามกรอบเวลาก่อน 18 เม.ย.นี้

"กรรมาธิการปรองดองเห็นชอบหลักการงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าทุกข้อ โดยเฉพาะที่ทุกฝ่ายต้องร่วมสร้างบรรยากาศ ให้ปรองดองให้ได้" นายชวลิต วิชยสุต เลขานุการ กมธ.กล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจนว่ามีความจริงใจในการสร้างปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม และเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ทั้งเงินและความรู้สึก ขณะที่ภาคสังคมต้องร่วมกันยุติการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม และอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสถาบัน รวมถึงไม่ควรรื้อฟื้นความผิดในอดีตในเรื่องของรัฐประหาร ควรเพิ่มมาตรการป้องกัน รวมถึงบทลงโทษแก่ผู้ที่ทำรัฐประหาร ด้านสื่อมวลชนก็ต้องสนับสนุนการสร้างความปรองดองเช่นกัน นอกจากนี้สื่อมวลชนต้องสนับสนุนและเลี่ยงให้เกิดความขัดแย้งสังคมไม่ควรรื้อฟื้นความผิดที่เกี่ยวกับการรัฐประหารในอดีตและต้องไม่ให้เกิดรัฐประหารอีกในอนาคต

สำหรับแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมนั้น ในระยะสั้นคือการจัดการความจริงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย ควรสนับสนุนความเห็นของ คอป.เพื่อนำมาเป็นบทเรียนและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในอดีต ขณะเดียวกันสังคมควรให้อภัย โดยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม ซึ่งทางเลือกของกฏหมายนิรโทษ ประกอบด้วย คดีการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท และคดีความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องยกเว้นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน และควรเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ มีวัตถุประสงค์เป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ส่วนระยะยาวนั้นสังคมต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง โดยให้ความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และต้องสร้างบรรทักฐานทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ส่วนการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย ทางเลือกที่หนึ่ง คือ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน ทางเลือกที่สอง ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยความผิดอาญาอื่นซึ่งแม้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน

ขณะที่การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับ ผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของ คตส. ทางเลือกที่หนึ่ง ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้ผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่สิ้นสุดแล้ว ทางเลือกที่สอง ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ โดยให้ถือว่า คดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ทางเลือกที่สาม ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ด้านนายนคร มาฉิม โฆษก กมธ.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าทางเลือกไหนดีที่สุด แต่เคารพดุลยพินิจของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอ โดยจะหาทางให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด โดยได้แจกแบบสอบถามให้กรรมาธิการแต่ละคนไปตอบและไปตั้งข้อสังเกตุเพิ่มเติม ก่อนที่จะสรุปความเห็นอีกครั้ง

ส่วนนายไชยา พรหมา โฆษก กมธ.กล่าวว่า กรรมาธิการเลือกที่จะไม่ลงมติผลงานทางวิชาการ เพราะไม่สามารถแก้ไขรายงานที่เสนอได้ อีกทั้งกรรมาธิการฯ มองว่าสังคมขณะนี้เปราะบาง และเกรงว่า หากมีมติทางใดจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงได้เห็นชอบหลักการทั้งหมดเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้เสนอไปยังรัฐบาลเพื่อร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ

ด้านนายชวลิต กล่าวว่า ได้มีการแจกแบบสอบถามให้กรรมาธิการไปแล้ว ฝ่ายเลขาฯ จึงจะมีข้อมูลว่าเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการมีความเห็นไปในแนวทางใด และจะทำรายงานเรื่องเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไประกอบกับการเสนอสู่สภาฯ ไม่เกินวันที่ 15 เม.ย.นี้ ตามกรอบเวลาที่กำหนด


แท็ก ปรองดอง   กมธ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ