"นพดล"แถลงโต้"ธีรยุทธ"วิเคราะห์การเมืองไทยอย่างมีอคติต่อ"ทักษิณ"

ข่าวการเมือง Monday March 19, 2012 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงโต้กรณีที่นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงการวิเคราะห์การเมืองไทย และแนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน โดยมองว่า การแถลงข่าวและวิเคราะห์ของนายธีรยุทธ ในหัวข้อ "การวิเคราะห์การเมืองไทยแนวโน้มของวิกฤติปัจจุบัน" ไม่อยู่เหนือความคาดหมายและเป็นไปตามเทศกาล และคิดอยู่แล้วว่าเมื่อเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นายธีรยุทธ จะใส่เสื้อกั๊กออกมาวิเคราะห์การเมืองไทยแน่นอน หลังจากที่หายไปช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ไม่เห็นด้วยในบางประเด็นแต่ก็เคารพสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการของนายธีรยุทธ

เนื้อหาการวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธ โดยทั่วไปก็ถือว่าสะท้อนปัญหาและเสนอทางออกการเมืองไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีการละเลยและละเว้นที่จะพูดถึงปัญหาสำคัญของประเทศอย่างถึงแก่น และยังมีอคติและความไม่เข้าใจต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในหลายประเด็น การวิเคราะห์การเมืองไทยของนายธีรยุทธ จงใจที่จะละเลยไม่พูดถึงการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากประชาชน 19 ล้านเสียง (การรัฐประหารในปี 49) ซึ่งเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยมว่าอำนาจคือความถูกต้อง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความแตกแยกของคนในชาติ และทำลายความฝันและความหวังของคนไทยที่จะได้รับจากนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามา

นายธีรยุทธ ไม่ได้พูดถึงการทำลายหลักนิติธรรมที่ตั้งผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองมาตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรีในรูปแบบ ค.ต.ส. นายธีรยุทธ ไม่พูดถึงการใช้กฎหมายย้อนหลังยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมือง นายธีรยุทธ ไม่พูดถึงความอยุติธรรมที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญปี 50 ได้สร้างขึ้น เช่น มาตรา237 ที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำลายความเข้มแข็งของ ฝ่ายบริหารและขุดหลุมพรางของการยุบพรรคและตัดสิทธิ์นักการเมืองที่เป็นกรรมการการบริหารแม้ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในการกระทำความผิด และที่สำคัญที่สุดนายธีรยุทธ ละเลยไม่พูดถึงการแทรกแซงกระบวนการตัดสินของฝ่ายตุลาการในบางกรณีจนทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมี 1 ประเทศแต่ 2 มาตรฐาน

การที่นายธีรยุทธ กล่าวว่าการขยายตัวของขั้วทักษิณ-รากหญ้า มีโอกาสทำให้เกิดการแตกร้าวระดับโครงสร้างและสถาบันมากขึ้นนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์นี้ เพราะรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติโดยยึดมั่นในนิติรัฐและนิติธรรม การสร้างความเท่าเทียมกันและการสร้างประชาธิปไตยโดยผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ให้เป็นประชาธิปไตย

"ถ้านายธีรยุทธ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขความไม่ถูกต้อง ผมอยากให้นายธีรยุทธ ได้เรียกร้องให้นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงแนวร่วม และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆได้ดำเนินการทางการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะและสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน" นายนพดล ระบุ

พร้อมกันนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของนายธีรยุทธ ที่ว่านโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยจะล้มเหลวในท้ายที่สุด คำว่าประชานิยมเป็นคำกว้างและมิได้เป็นสิ่งเลวและมิได้หมายความว่านโยบายทุกนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นประชานิยม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายการสร้างโอกาสให้คนยากจนเข้าถึงเงินทุน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุน SML การให้ทุนนักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ที่ปลดปล่อยศักยภาพของคนในท้องถิ่น นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ยั่งยืนที่จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกยังยกย่อง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะใช้เป็นโมเดลที่ใช้ไปทั่วโลก

"การพูดแบบเหมารวมของนายธีรยุทธ ว่านโยบายประชานิยมเป็นสิ่งเลวร้ายไปทั้งหมดเป็นการสรุปที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และเต็มไปด้วยหมอกควันทางวิชาการ" นายนพดล ระบุ

นอกจากนี้ การที่นายธีรยุทธ สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีลักษณะการเป็นผู้นำทางการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย และมุ่งหวังให้รากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอ มากกว่าจะใช้รากหญ้าเป็นรากฐานมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยนั้น ในประเด็นนี้ข้อสรุปของนายธีรยุทธ ได้ลดความน่าเชื่อถือและคุณค่าการวิเคราะห์ทางวิชาการลงไปมาก ข้อสรุปสวนทางกับความ

"การสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้รากหญ้าเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน และอำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นข้อสรุปที่ถือไม่ได้ว่าเป็นงานทางวิชาการ แต่เป็นการรำพึงรำพันทางวิชาการที่สะท้อนความรู้สึกและอคติของนายธีรยุทธ ซึ่งทำให้เห็นว่านายธีรยุทธ ยังไม่หลุดพ้นจากกรอบความคิดของคนบางกลุ่มในสังคมไทยที่ปฏิเสธการรับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ใช้อคตินำทางสู่ข้อสรุป" นายนพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ