นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานว่า ไม่ควรจัดให้มีการลงมติแนวทางการสร้างความปรองดอง เพราะเท่ากับเป็นการไม่ยอมรับแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่เคยระบุไว้ว่าประเด็นที่มีความขัดแย้งนั้นจะใช้การพูดคุยทำความเข้าใจให้เกิดการตกผลึก
“กรรมาธิการไม่ควรจะมีการลงมติ เพราะอันนี้คือข้อเสนอสำคัญของทางสถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งวันก่อนก็แถลง เพราะฉะนั้นการที่คณะกรรมาธิการพยายามที่จะหาข้อสรุปโดยการใช้การลงมติก็เท่ากับการไม่ยอมรับแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งพูดว่าประเด็นที่จะมีความขัดแย้งอยู่ ก็ต้องใช้กระบวนการของการพูดคุยทำความเข้าใจให้เกิดการตกผลึก ดังนั้น ผมก็เห็นว่าถ้าทำอย่างนี้ก็เท่ากับว่าไม่ได้มีความตั้งใจในการที่จะใช้แนวทางที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมาอย่างแท้จริง"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า หากดำเนินแนวทางลักษณะนี้ไม่ใช่ปรองดอง แต่กลับจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เป็นความขัดแย้ง
“หากว่าจะทำอย่างนี้ ผมว่าไม่ต้องตั้งกรรมาธิการก็ได้ แนวทางที่ผ่านมานั้น ไปสัมภาษณ์คน 47 คน หลายคนต้องคดีอยู่ ก็มาเสนอบอกว่า ถ้าอยากจะเลิกทะเลาะกันก็ต้องไม่ให้ผมติดคุก ไม่ให้ผมถูกลงโทษ ไม่ให้ผมถูกดำเนินคดี แล้วก็คนอย่างนี้ก็บังเอิญมีเสียงข้างมากอยู่ในสภาอยู่ในกรรมาธิการ ก็เอากลับมา แล้วก็บอกว่ามาลงมติ เป็นว่าตกลงจะยกโทษให้ นิรโทษกรรมให้หรือไม่ ผมยังไม่เห็นว่ามันเป็นกระบวนการที่มันเป็นเรื่องการปรองดองตรงไหน"
สำหรับทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ คือ การให้คณะกรรมาธิการ แล้วก็ทางสถาบันพระปกเกล้านำข้อท้วงติงต่าง ๆ กลับมาทบทวน พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
"ผมไม่ได้บอกว่าให้เขาเห็นด้วยกับผมทั้งหมด ไม่ได้บอกว่าต้องเห็นด้วยกับกรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด แต่หัวใจก็คือว่า ถ้าบอกว่าฟังคนแล้วเอามาเป็นทางเลือก แล้วมาลงมตินั้น อย่างนี้ไม่ต้องมีคณะกรรมาธิการปรองดองก็ได้ครับ ลองดูสิครับไปถาม 47 คน รวมทั้งคุณทักษิณด้วย มีคนบอกเสนอบอกว่าให้ล้มล้างคดีคตส.ทั้งหมด แค่ 1 คน แต่คุณไปถามคนที่มีคดีติดตัวอยู่ เขาก็บอกให้ล้มคดี แล้วคุณก็บอกว่านี่เป็นทางเลือกการปรองดองนะ บังเอิญคนที่ล้มคดีอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก คุณก็เอามาแล้วก็บอกว่า ลงมติกัน ผมมองไม่เห็นว่านี่จะเป็นกระบวนการปรองดองอย่างไร"