นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันนี้ว่า ไม่ใช่การพิจารณาเนื้อหาข้อสรุปรายงานผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรเสนอ แต่เป็นเพียงการเสนอญัตติให้นำเข้าสู่การพิจารณาสมัยสามัญนิติบัญญัติเท่านั้น
ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการเร่งรัดเกินไปและต้องชี้แจงเหตุผลในการเสนอญัตติดังกล่าวเข้ามานั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นของฝ่ายค้าน แต่เมื่อกรรมาธิการฯ มองว่าเป็นเรื่องด่วนจึงได้มีการเสนอเข้ามา
อย่างไรก็ดี นายสมศักดิ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าการพิจารณาในครั้งนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งในสภาหรือไม่
ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การประชุมรัฐสภาวันนี้เป็นการประชุมเพื่อรับรองการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ แต่ไม่มีการพิจารณาในรายละเอียดและไม่ได้มีการลงมติแต่อย่างใด หากฝ่ายค้านจะอภิปรายคัดค้านเรื่องการการนิรโทษกรรมคดีอาญาและยกเลิกคดีของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ก็ควรอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแทน
ส่วนกรณีที่ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ลาออกจากคณะกรรมาธิการฯ นั้น ประธานวิปรัฐบาล เห็นว่า ไม่มีผลต่อการเดินหน้าสร้างความปรองดอง เพราะการทำงานของกรรมาธิการฯสิ้นสุดแล้ว และใช้เวลาในการศึกษามาแล้ว 150 วัน พร้อมมองว่าไม่ได้มีการเร่งรัดตามที่ฝ่ายค้านคัดค้านแต่อย่างใด
ส่วนการที่สถาบันพระปกเกล้าจะถอนผลงานการวิจัยออกนั้น ประธานวิปรัฐบาล เห็นว่าหากงานวิจัยถูกต้องตามหลักวิชาการก็ไม่ควรกังวลผลลัพธ์ที่ออกมาว่าจะไม่ถูกใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะหากถอนงานวิจัยก็จะเกิดคำถามตามมาว่างานวิจัยถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับหนังสือลาออกจาก 9 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอลาออกจากคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยให้เหตุผลการลาออกว่า กรรมาธิการไม่มีการทบทวนรายงานแนวทางสร้างความปรองดองที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ แต่กลับนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จึงเกรงว่าอาจมีการนำรายงานไปอ้างอิง ทำให้เกิดความเสียหายได้
ทั้งนี้ ส.ส.ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง 5.นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส 6.นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก 7.นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี 8.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 9.น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม
ด้านพล.อ.สนธิ ยืนยันว่า จะไม่ทบทวนรายงานของกรรมาธิการฯ เพราะทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว จากนี้ไปเป็นเรื่องของสภา แม้ว่า กรรมาธิการยังเหลือเวลาในการทำงานถึงกลางเดือนเม.ย.ก็ตาม พร้อมกันนี้ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่าการลาออกของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จากคณะกรรมาธิการฯ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่