ปรากฎการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่พุ่งขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือระดับ 107 ดอลลาร์/บาร์เรลในขณะนี้ทำให้ประเทศทั่วโลกหวาดผวาว่า เศรษฐกิจที่เพิ่งจะฟื้นไข้หลังจากที่นอนซมยาวเมื่อปีที่แล้วนั้น อาจจะกลับมากำเริบหนักขึ้นหากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจนฉุดไม่อยู่ เพราะการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันไม่เพียงแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับภาคครัวเรือนด้วย
สาเหตุหลักที่หนุนราคาน้ำมันทะยานขึ้นอย่างดุเดือดในรอบนี้มาจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจตะวันตก และล่าสุดที่ต้องจับตาคือ ?อิสราเอล" ที่กลายมาเป็น ?หมากตัวสำคัญ" บนกระดานการเมืองที่ร้อนระอุ ทั้งอิสราเอลและชาติตะวันตกซึ่งมีสหรัฐเป็นหัวหอก ต่างก็กล่าวหาว่าอิหร่านกำลังผลิตอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของโลก แม้อิหร่านจะยืนกรานมาโดยตลอดว่าเป็นการผลิตพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติก็ตาม
* เปิดปูมโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน กับสัญญาณพร้อมตอบโต้ชาติตะวันตก
อันที่จริงอิหร่านได้ริเริ่มโครงการนิวเคลียร์มานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่โครงการนิวเคลียร์อิหร่านถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษหลังเกิดเหตุก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ซึ่งสหรัฐเชื่อว่า อิหร่านลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนผู้ก่อการร้าย แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งก็คือในเดือนพ.ย. 2554 เมื่อสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล ( IAEA) มีหลักฐานที่เชื่อถือได้เป็นจำนวนมากว่า อิหร่านทำการวิจัยและพัฒนาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นไปได้ที่กิจกรรมเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ นับจากนั้นสหรัฐและโลกตะวันตกก็ดาหน้ากับออกมาขู่ว่า จะคว่ำบาตรอิหร่านหากไม่ยุติโครงการนิวเคลียร์ แต่อิหร่านประกาศกร้าวว่าหากอุตสาหกรรมส่งออกน้ำมันซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอิหร่านถูกคว่ำบาตร อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ระดับอิหร่านแล้วการ ?ขู่" คงไม่อาจทำให้คนทั้งโลกขนหัวลุกได้ อิหร่านตัดสินใจประกาศซ้อมรบเป็นเวลา 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2554 ณ บริเวณอ่าวเปอร์เซีย, ช่องแคบฮอร์มุซ และอ่าวโอมาน ซึ่งถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพว่า อิหร่านพร้อมที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ทุกเมื่อ กระทั่งในวันที่ 1 ม.ค. 2555 ในขณะที่คนทั้งโลกกำลังฉลองวันขึ้นศักราชใหม่นั้น อิหร่านก็สร้างเซอร์ไพรซ์ที่ทำให้สหรัฐขำไม่ออก เมื่อเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ IRIB TV ของทางการอิหร่านรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยขององค์การพลังงานปรมาณูแห่งอิหร่าน (AEOI) ประสบความสำเร็จในการผลิตและทดลองตัวอย่างแรกของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
หลังจากนั้นไม่กี่วันอิหร่านก็ออกมาย้ำว่า ได้เริ่มดำเนินการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่อุโมงค์ใต้ดินของโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดแล้ว ข่าวดังกล่าวทำเอาสหรัฐและชาติมหาอำนาจตะวันตกพากันนั่งไม่ติดเก้าอี้ แม้อิหร่านบอกว่าใช้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เพื่อผลิตยาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง และการพัฒนาเพื่อสันติก็ตาม
* เปิดปมแค้นทะลุจุดเดือด ก่อนอิหร่านถูกสั่งเชือด เซ่นวิกฤตนิวเคลียร์
เส้นทางความแค้นระหว่างอิหร่านและประเทศตะวันตกทวีความรุนแรงจนมาถึงวันที่ 11 ม.ค. 2555 เมื่อมีผู้ลอบวางระเบิดรถยนต์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกลางกรุงเตหะราน ส่งผลให้นายมุสตาฟา อาห์มาดี รอสฮาน นักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบงานแยกก๊าซในโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอิหร่านเป็นอย่างมาก อิหร่านระบุว่า หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล (มอสซาด) เป็นผู้ลงมือก่อเหตุครั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐ (ซีไอเอ) ทั้งยังเปิดโปงหลักฐานว่า อิสราเอลและสหรัฐมีส่วนในการสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่านถึง 4 คนก่อนหน้านี้
จากนั้นในช่วงต้นเดือนก.พ. 2555 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เมื่อเหตุการณ์ระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอล ในกรุงนิวเดลีเมืองหลวงอินเดีย, กรุงทบิลิซิ ของจอร์เจีย และถัดมาเพียงวันเดียวก็เกิดเหตุระเบิดที่กรุงเทพฯของเรา ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่าเป็นการโจมตีเพื่อประสงค์ชีวิตนักการทูตอิสราเอล ซึ่งพอล กาเยีย นักวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นมองว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่อิหร่านจะอยู่เบื้องหลังทั้ง 3 เหตุการณ์ สอดคล้องกับที่โบอาซ กานอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อต้านการก่อการร้ายของศูนย์เฮิร์ซลิยา ในอิสราเอลกล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์วัตถุระเบิดในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็น "ระเบิดแม่เหล็ก" แบบเดียวกับที่พบในที่เกิดเหตุเมื่อครั้งที่นักวิทยาศาสตร์อิหร่านถูกโจมตีนั้น ก็สามารถคาดคะเนได้ว่า การโจมตีเหล่านี้เป็นฝีมือของอิหร่าน เพื่อแสดงให้อิสราเอลเห็นพิษสงของอิหร่านว่าสามารถลงมือปฏิบัติการ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" กับอิสราเอลได้ทุกเมื่อ
นอกจากนี้ กาเยีย ซึ่งเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลางซีไอเอของมานานร่วม 20 ปีนั้น ยังเชื่อว่า อิหร่านใช้วิธียืมมือเครือข่ายข่าวกรองระดับรองในหลายประเทศ วางแผนและหาคนนอกลงมือ โจมตีเป้าหมายเจ้าหน้าที่ทูตอิสราเอล โดยอิหร่านให้ความช่วยเหลือทางอ้อม และอยู่ให้ห่างมากที่สุดเพื่อไม่ให้อิสราเอลกล่าวหาได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยกาเยีย ระบุว่า อิหร่านมักใช้กลุ่มตัวแทนโจมตีศัตรูในต่างแดน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ หรืออาจจะเป็น "กองกำลังกัตส์" ซึ่งเป็นกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน
และแล้ววันที่อิหร่านไม่อยากให้เกิดขึ้นก็มาถึง เมื่อรัฐบาลสหรัฐเปิดฉากตอบโต้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านครั้งแรกด้วยการประกาศคว่ำบาตรธุรกิจพลังงานของอิหร่านเละคว่ำบาตรบุคคลที่ให้ความช่วยเหลืออิหร่านในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
"นี่เป็นการคว่ำบาตรที่พุ่งเป้าไปยังภาคปิโตรเคมี โดยห้ามไม่ให้มีการจัดหาสินค้า การบริการ และเทคโนโลยีให้แก่ภาคส่วนนี้ของอิหร่าน รวมถึงลงโทษบุคคลหรือองค์กรที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว การคว่ำบาตรธุรกิจพลังงานจะทำให้อิหร่านประสบความยากลำบากในการดำเนินงานในธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ตราบใดที่อิหร่านเลือกเส้นทางที่อันตรายเช่นนี้ สหรัฐก็จะหาทางโดดเดี่ยวและกดดันอิหร่าน ด้วยการร่วมมือกับประเทศพันธมิตรหรือทำด้วยตัวเอง" ประธานาธิบดีบารัค โอบามากล่าว
จากนั้นไม่กี่วัน วุฒิสภาสหรัฐมีมติเอกฉันท์ให้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในระดับที่รุนแรงมากขึ้น พร้อมกับยืนยันว่าจะใช้บทลงโทษสถาบันการเงินต่างชาติที่ทำธุรกรรมกับธนาคารกลางอิหร่าน และในวันเดียวกันนั้นเอง กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ก็ตัดสินใจคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอิหร่าน และตามมาด้วยประเทศมหาอำนาจรายอื่นๆ รวมถึงฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่พร้อมใจกันใช้ปฏิบัติการรุมยำอิหร่าน กระทั่งล่าสุด สมาคมการสื่อสารโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ที่เคยเดินเกมขู่อิหร่านมาหลายรอบ ก็ตัดสินใจประกาศตัดขาดธนาคารอิหร่านที่ถูกขึ้นบัญชีดำออกจากระบบธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก
* เปิดศึกโชว์แสนยานุภาพ ต่างฝ่ายต้องการกำราบ แต่เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย
เมื่อถูกลูบคมด้วยมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศถึงขั้นนี้ มีหรือพี่ใหญ่แห่งอ่าวเปอร์เซียอย่างอิหร่านจะอยู่เฉย นายมาห์หมุด อมาดิเนจ๊าด ประธานาธิบดีอิหร่านได้สั่งสายตรงถึงพลเรือเอกฮาบิบอลเลาะห์ เซย์ยารี ผู้บัญชาการกองทัพเรือของอิหร่าน ให้เร่งสร้างเรือรบ "จามาราน-2" ซึ่งเป็นเรือรบที่ทันสมัย มีอำนาจทำลายล้างในรัศมีทำการระหว่างภาคพื้นน้ำต่อภาคพื้นอากาศ และภาคพื้นน้ำต่อภาคพื้นน้ำ อีกทั้งมีความสามารถในการยิงทำลายเฮลิคอปเตอร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้อิหร่านเคยข่มขวัญด้วยการเคลื่อนกองกำลังนาวิกโยธินเข้าไปซ้อมรบที่ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเวลานานถึง 10 วัน
ด้านสหรัฐไม่ยอมน้อยหน้า เมื่อพลเรือเอกโจนาธาน กรีเนิร์ต เสนาธิการทหารเรือสหรัฐออกมาเปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า นอกจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำที่ติดตั้งอาวุธเหมือนเรือรบและจอดอยู่ไม่ไกลจากอิหร่านแล้ว สหรัฐยังมีเรือกวาดทุ่นระเบิด 4 ลำประจำการที่บาห์เรน และเตรียมจะส่งไปเพิ่มอีก 4 ลำ นอกจากนี้ สหรัฐยังส่งเรือลาดตระเวนชายฝั่งที่มีการติดตั้งปืนกล Mk-38 Gatling Gun และติดตั้งขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่มีอานุภาพการทำลายระยะไม่เกิน 6.4 กิโลเมตร
การประกาศแสนยานุภาพของทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า การปิดช่องแคบฮอร์มุซจะส่งผลให้เกิดภาวะติดขัดด้านการลำเลียงน้ำมันและทำให้เกิดภาวะอุปทานตึงตัว นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าปฏิบัติการซ้อมรบในครั้งนี้อาจจะตีวงกว้างไปถึงมหาสมุทรอินเดีย แบงก์ ออฟ อเมริกา คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้น 40 ดอลลาร์/บาร์เรล หากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติทำให้การผลิตน้ำมันของอิหร่านต้องหยุดชะงักลง ขณะที่สำนักงานสถิติด้านพลังงานของอิหร่านเปิดเผยว่า อิหร่านซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ส่งออกน้ำมันได้ไม่ถึง 300,000 บาร์เรล/วันในเดือนมี.ค. หรือลดลง 14% และนับเป็นครั้งแรกในปีนี้ที่ยอดส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลง ซึ่งหากผลผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลงอีก ราคาน้ำมันก็จะยิ่งพุ่งรุนแรงขึ้น
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราว่า สงครามไม่มีความปราณี และยิ่งศึกสงครามของช้างสารระดับมหาอำนาจในครั้งนี้ มีแต่จะทำให้หญ้าแพรกแหลกลาญบนผืนแผ่นดิน เพราะหากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็อาจจะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอยู่แล้วนั้น ให้เผชิญกับภาวะถดถอยครั้งใหญ่ คอลัมน์ In Focus ก็ได้แต่หวังว่า ช้างสารสักฝ่ายหนึ่งจะยอมถอยสักก้าว เพื่อเห็นแก่ประชาชนคนทั้งโลกที่ต้องแบกรับภาระกันจนหลังแอ่นเหมือนเช่นทุกวันนี้