นายกฯ เสนอสร้างเครือข่ายประชาคมบริหารจัดการภัยพิบัติ-ลดช่องว่างระหว่างปท.

ข่าวการเมือง Tuesday April 3, 2012 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงสำนักงานนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและภริยา รอให้การต้อนรับ และมีการถ่ายภาพร่วมกัน ณ จุดต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังห้องพักรอ ชั้น 3 ก่อนเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 และการฉลองครบรอบ 45 ปี อาเซียน ณ Nuon Srey Hall ชั้น 3 สำนักงานนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

โดยพิธีเปิดเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งได้กล่าวถึงการพัฒนาและนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาในการบริหารประเทศและนำมาซึ่งความมั่นคง การพัฒนาในกัมพูชา และการเพิ่มบทบาทของกัมพูชาในภูมิภาค

ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวเปิดการประชุมของสมเด็จฮุนเซน เป็นการถ่ายภาพหมู่ร่วมกันบนเวทีของผู้นำอาเซียนเรียงตามลำดับตัวอักษร ต่อด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีเปิด ผู้นำอาเซียนต่างเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนแบบเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้อง Champa Room ชั้น 3 เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป

นายกฯ ยืนยันการให้การสนับสนุนและความร่วมมือกับกัมพูชาในการเป็นประธานอาเซียน ทั้งนี้ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จัดลำดับความสำคัญของการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการนำสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนมาปฏิบัติใช้ให้ได้จริง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องยึดถือและดำเนินการตามแผนแม่บททั้งสาม ผู้นำทุกประเทศต้องให้ความสนันสนุน ทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ความสำเร็จของประชาคมอาเซียน จะต้องดำเนินการตามเสาหลักที่สำคัญ คือ เสาหลักทางเศรษฐกิจ ต้องมีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การค้าแบบเสรี เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุนทางตรงในอาเซียน การทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันจะทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในอาเซียนและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน ประเทศไทยสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และหวังว่า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) จะสามารถสรุปได้ตามแผนการ รวมถึง การประกาศให้มีการเจรจาในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 (launch of negotiation at 21st ASEAN Summit) และเริ่มให้มีการเจรจากับคู่ภาคี FTA ภายในปลายปีนี้ และไตรมาสแรกของปี 2556 (2013) และเพื่อให้มีการสมดุลใน RCEP เราควรจะสร้างให้เกิดผลประโยชน์ร่วมและแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้มีจุดศูนย์กลางเป็นอาเซียน

เสาหลักการเมืองและความมั่นคง ต้องมีการสนับสนุนทางสายกลางในการป้องกันการก่อการร้ายในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ยังเป็นเวลาที่สมควรสำหรับการแสดงเจตจำนงของอาเซียนในเรื่องสิทธิมนุษยธรรม (ASEAN Declaration on Human Rights) นอกจากนี้ จะต้องสนับสนุนให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ลงนามในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the Protocol to the Southeast Asia Nuclear-Weapon-Free Zone Treaty) ภายในปีนี้ รวมถึง การพัฒนาเครือข่ายหน่วยงานนิวเคลียร์ เพื่อสร้างความร่วมมือว่าด้วยประเด็นความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งไทยได้เป็นผู้ริเริ่มในการประชุมนิวเคลียร์ซัมมิท ครั้งที่ผ่านมา และความจำเป็นในการสร้างประชาคมที่ปราศจากยาเสพติด ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้มีการรับรองแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยเขตปลอดยาเสพติด

เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม จะต้องมีการร่วมมือมากขึ้นในเรื่องหมอกควันข้ามเขตแดน โดยมีเป้าหมายที่จะลดวาตภัยให้เหลือเพียง 50,000 แห่ง ในลุ่มแม่น้ำโขง ภายในปี 2558 และเพื่อเป็นการสนับสนุนขีดความสามารถของภูมิภาค ประเทศไทยขอเสนอความช่วยเหลือด้านเทคนิคโดยการจัดการฝึกอบรมด้านการควบคุมคุณภาพอากาศให้แก่สมาชิกประเทศอาเซียนในปลายปีนี้

สำหรับประเด็นเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติ นายกรัฐมนตรีเสนอเป้าหมายการสร้างเครือข่ายประชาคมที่สามารถบริหารจัดการภัยพิบัติได้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพของภูมิภาค โดยการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์และแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน พร้อมกับสนับสนุนการบริหารน้ำข้ามเขตแดน ซึ่งอาจรวมถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างพลเรือนและทหารเพื่อทำให้ศูนย์กลางเครือข่ายเข้มแข็งมากขึ้น

ด้านความเชื่อมโยงในอาเซียน (connectivity) เป้าหมายคือการเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกอาเซียน เพื่อสร้างประชาคมให้มีผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องลดอุปสรรคบริเวณชายแดน เพื่อให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าและประชาชนระหว่างกันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎระเบียบ หรือลดกระบวนการผ่านเข้าออก โดยใช้ ASEAN Single Window ในขณะเดียวกัน ต้องพัฒนากลไกในการรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้ใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงลักลอบกระทำการที่ผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด จนกระทั่ง วัสดุนิวเคลียร์ ในส่วนของประเทศไทยเอง จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Economic Forum on East Asia ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-1 มิ.ย. 2555 ภายใต้หัวข้อ "Shaping the Region Future through Connectivity" ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้นำอาเซียนมาร่วมงานดังกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่อาเซียนต้องดำเนินการ คือ การลดช่องว่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยการสร้างความมั่นคงและเจริญเติบโตแก่ประชาคมอาเซียน และประเทศไทยมีนโยบายที่จะลดช่องว่างดังกล่าวผ่านกรอบความร่วมมือ GMS ACMECS และ ASEAN โดยใน 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้สนับสนุนเงินจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความช่วยเหลือทางเทคนิค และได้อนุมัติการกู้ยืม จำนวน 256 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน และไทยก็ยังคงพัฒนาความร่วมมือภายใต้ Initiative for ASEAN Integration เพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ