"อภิสิทธิ์"ย้ำทางออกปรองดอง ต้องไม่ทำเพื่อประโยชน์"ทักษิณ"

ข่าวการเมือง Friday April 6, 2012 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณถึงการประชุมสภาในคืนที่ผ่านมา ( 5 เม.ย.) ว่าสำหรับการอภิปรายนั้นถือว่าพูดกันได้กว้างขวาง โดยเฉพาะการอภิปรายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาการปรองดองว่ามีคู่ขัดแย้งที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคู่กรณีกับหลายกลุ่ม นอกจากนี้ตนยังได้เสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คือ ไม่ต้องนิรโทษกรรมตน และนายสุเทพ ทั้ง 2 คน เพื่อแลกกับการไม่นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว คือ 2 แลก 1

“ผลในทางการเมื่อคืนนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรโดยทางรัฐบาลเสียงข้างมาก 370 เสียงก็ได้ลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอข้อสังเกตในรายงานที่กรรมาธิการ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยกลิน เป็นประธาน ฯเพื่อส่งให้รัฐบาล"

นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า หลังจากที่ได้เสนอข้อเสนอ 2 ต่อ 1 แล้ว ก็คงต้องจับตาดูว่าจะมีการดำเนินการในลักษณะไหนอย่างไร พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ว่าจะใช้ความชอบธรรมในเชิงหลักวิชาการใดเพื่อนำไปสู่การล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ไม่เรียกว่าเป็นความชอบธรรม

“ก็ยังไม่มีคำตอบครับ คงต้องจับตาดูต่อไปนะครับ ว่าตกลงแล้วจะมีการดำเนินการในลักษณะไหนอย่างไร อ้างอะไรอย่างไร แต่ขอยืนยันอีกครั้งครับว่า ความชอบธรรมในเชิงหลักวิชาการอะไรต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การล้างผิดเพื่อให้คุณทักษิณนั้นคงไม่มีความชอบธรรมหรอกครับ"

ต่อคำถามว่าภายหลังจากการประชุมสภา 2 วัน พอจะมีทางออกหรือไม่นั้นนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทางออกนั้นมีอยู่แล้ว ถ้าไม่เอาประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นตัวตั้ง

“ทางออกมันมีอยู่แล้ว เมื่อวานนี้ก็หลายคนก็เสนอนะครับ คุณสุเทพก็เสนอ ดร.ไตรรงค์ ( ไตรรงค์ สุวรรณคีรี )ก็เสนอ ผมก็เสนอ ว่ามันมีทางออกอย่างไร ถ้ามันไม่เอาประโยชน์ของคุณทักษิณมาเป็นตัวตั้ง เอาประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มมา คำตอบมันก็มี ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับใคร แต่ถ้าจำเป็นต้องตอบโจทย์คุณทักษิณคนเดียวนั่นแหละคือปัญหา"

นายอภิสิทธิ์ย้ำว่า การรับแนวคิดของสถาบันพระปกเกล้าไปก็คือต้องไปทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่ถ้าเอาแนวคิดของสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วไปทำอย่างอื่น ต้องถือว่าไม่ใช่ทำตามแนวคิดของสถาบันพระปกเกล้า

“รัฐบาลก็น่าที่จะนำเอา ประเด็นหลักว่าบัดนี้มีการศึกษาโดยสภา โดยพระปกเกล้า ประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องมาพูดคุยกันเกี่ยวกับการปรองดองนั้นก็ถือว่ารับรู้รับทราบแล้วว่าเป็นประเด็นไหนอย่างไร เมื่อรับรู้รับทราบแล้ว ก็พึงที่จะเอาเรื่องนี้ไปเข้าสู่กระบวนการของการสานเสวนา พูดคุยกัน ซึ่งการพูดคุยนั้นก็ควรจะเลือกใช้กลไกเวที ที่มีความเหมาะสม ความจริงแล้วสถาบันพระปกเกล้าเองเขาก็ได้เสนอตัวเข้ามา แล้วเขาก็อยู่ในฐานะที่รู้ว่าจะต้องไปพูดคุยเรื่องไหนอย่างไร มีฐานะซึ่งก็แยกออกมาจากฝ่ายบริหาร ก็อาจจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะเอาไปพูดคุยกัน"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ