นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เผยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้แถลงปิดคดีขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ด้วยลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน และนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 18 พ.ค.นี้
โดยวันนี้นายจตุพรได้ยื่นคำร้องขอนำพยานเข้าสืบรวม 7ปาก และขอแถลงเปิดคดีด้วยวาจาและเอกสาร พร้อมทั้งขอให้ศาลถ่ายทอดสดการพิจารณาคดี แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีมีพยานเพียงพอแล้ว โดยประเด็นที่จะวินิจฉัยเป็นประเด็นข้อกฎหมาย จึงมีคำสั่งงดการไต่สวน และไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียง แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาอนุญาตให้คู่กรณีแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลนัดพร้อม หากไม่แถลงถือว่าไม่ติดใจ โดยศาลได้นัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 18 พ.ค. 55 เวลา 10.30 น.
ทั้งนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพร้อมคู่กรณีเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินกระบวนการพิจารณาทั้ง 3 คดี ได้แก่ คดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ร้องส่งเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ถูกร้องว่าจะสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(4) ประกอบมาตรา 101(3) หรือไม่ จากการที่นายจตุพรไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
คดีที่สองเป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 106(6) และ มาตรา 266(1) หรือไม่ จากกรณีไปแจกถุงยังชีพของกระทรวงพลังงานที่ จ.พิษณุโลก
และคดีที่สามเป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวม 8 คน คือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.), นายการุณ โหสกุล, นายสุรชาติ เทียนทอง, นายวรชัย เหมะ, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย, นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(6) ประกอบมาตรา 265 (1) และมาตรา 266 (1) หรือไม่ จากกรณีการแทรกแซงการทำงานของ ศปภ.