ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ปชป.ที่ใช้อำนาจหน้าที่ ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแจกถุงยังชีพให้แก่ประชาชนใน จ.พิษณุโลก ซึ่งประสบปัญหาอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 54 ตามข้อกล่าวหาของพรรคเพื่อไทย(พท.)
ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการทำหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ไม่มีมูลเหตุที่ใช้สถานะความเป็น ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของภาครัฐ แต่กลับเป็นการนำสิ่งของไปช่วยเหลือให้แก่ประชาชน ศาลจึงวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่มีมูลเหตุในการใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส.เข้าไปแทรกแซงการทำงานของภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ศาลจึงให้จำหน่ายคำร้องดังกล่าว
หลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และ ส.ส.เพื่อไทย อีก 7 คน ประกอบด้วย นายการุณ โหสกุล, นายสุรชาติ เทียนทอง, นายวรชัย เหมะ, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย, นายวิชาญ มีนชัยนันท์, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเข้าเป็นกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพช่วงเกิดปัญหาอุทกภัยช่วงปลายปี 54 เช่นเดียวกันตามข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งต่อมานายจารุพงศ์ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อไปรับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องเฉพาะนายจารุพงศ์ไปก่อนหน้านี้แล้วจึงเหลือเพียง พล.ต.อ.ประชา และ ส.ส.เพื่อไทย อีก 6 คน
โดยศาลเห็นว่าผู้ถูกร้องทุกคนมีเจตนาเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในฐานะผู้แทนปวงชน ไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่มีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงไม่มีมูลเหตุที่จะนำไปสู่การทุจริตแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องในทุกกรณี