"ยงยุทธ"แจงรณรงค์ลดอุบัติเหตุสงกรานต์ไม่ล้มเหลว,พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

ข่าวการเมือง Saturday April 21, 2012 10:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ทางสถานีโทรทัศน์ NBT เช้านี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

โดยวันนี้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มาร่วมรายการแทน พร้อมด้วย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) และ น.อ.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อชี้แจงถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์และการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว

นายยงยุทธ ยอมรับว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลย แม้ยอดผู้เสียชีวิตในปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อนแต่ก็ไม่ถือว่าการรณรงค์ของรัฐบาลล้มเหลว เพราะมี 6 จังหวัด คือ ตราด นครพนม ปัตตานี ยะลา ตรัง และสตูล ที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย หรือ 678 อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิต และมีถึง 250 อำเภอที่ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปภ.) ได้สรุปการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันที่ 11-17 เม.ย.55) เกิดขึ้นรวม 3,129 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 320 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,320 คน

ขณะที่นายวิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรณรงค์ลดอุบัติเหตุต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การรณรงค์สวมหมวกนิรภัย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากส่วนนี้ให้ได้ปีละ 20%, การรณรงค์เมาไม่ขับ, การสร้างวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน เป็นต้น

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัตินั้น นายยงยุทธ กล่าวว่า กรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต นั้น ประชาชนคงเข้าใจได้ดีว่า จะไม่เกิดเหตุรุนแรงตามที่มีข่าวลือจึงไม่ต้องตระหนกตกใจไปตามกัน เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเราไม่ทราบล่วงหน้า รัฐบาลจึงได้เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ จัดตั้งศูนย์เตือนภัย ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลส่วนท้องถิ่นได้มีการประสานงานกันตลอดเวลา เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ความเข้าใจที่ตรงกัน มีแผนงานที่ชัดเจนในการเรียบเรียงข้อมูลข่าวสาร และการอพยพผู้คน

"รัฐบาลชินกับงานประเภทนี้มานานแล้วแต่อาจมีปัญหาบ้าง เหมือนปีที่แล้วที่ประเทศไทยประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงจนติดขัดเรื่องการสื่อสาร ความชัดเจนเรื่องการให้ข้อมูล แต่ยืนยันว่า จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนครั้งที่ผ่านมาแน่นอน" นายยงยุทธ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องการสื่อสารในการให้ข้อมูลแก่พี่น้องประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติว่า ต้องมีความแน่ชัด ตรงจุดอย่างทันทวงที เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น กรณีน้ำท่วมที่อยุธยา มีการแจ้งเตือนภายในพื้นที่ล่าช้าจนประชาชนได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังเป็นการทำงานที่ไม่ได้มีการบูรณาการจากทุกหน่วยงานร่วมกัน ตรงนี้เป็นจุดบกพร่องซึ่งรัฐบาลนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงเพื่อให้เกิดการบูรณการร่วมกัน เน้นแก้ปัญหาตรงจุดมากยิ่งขึ้น และใช้เครือข่ายที่มีส่งสารให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมความพร้อม

ด้าน น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การเกิดภัยพิบัติในประเทศไทยนั้น เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต นั้น จริงๆ แล้วเป็นเรื่องปกติ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนอย่าเกิดความตระหนกตกใจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ชิลิ ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ถือว่าประเทศไทยยังได้รับความรุนแรงขนาดกลาง และเล็กน้อยมาก ซึ่งไม่สร้างความเสียหาย แต่เป็นเพียงแค่การรับรู้ความรู้สึกเท่านั้น

"จริงๆ ทางนักวิชาการมีการตรวจสอบตลอดเวลา รอยเลื่อนที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงเท่าเมื่อปี 2542 ครั้งนั้นรุนแรงที่สุด แต่การเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมาเป็นการเกิดขึ้นไม่รุนแรง เล็กๆ เท่านั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี" น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบเตือนภัยของประเทศไทยดีที่สุดหากเทียบในกลุ่มประเทศเอเชีย แต่เป็นรองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคคือ เรื่องภาษาไม่ตรงกัน ตรงนี้หน่วยงานจึงเล็งเห็น และเน้นให้เห็นถึงการทำอย่างไร เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่าย ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในท้องถิ่นอย่างถูกต้อง

"การวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล โดยตรวจสอบจากทุกแหล่ง และเมื่อชัดเจนก็จะส่งต่อยัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพียงแค่ 2 นาที ตรวจเช็ค เพื่อความแน่ชัดว่า ถ้ามีผลกระทบกับประเทศไทยก็จะดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือ มีเวลาในการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัย" น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้านนายวิบูลย์ กล่าวว่า ปภ.การเตรียมความพร้อมโดยให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในเรื่องภัยต่างๆ ทั้งภัยจากมนุษย์ และภัยธรรมชาติ รวม 18 ภัย ลงยังจังหวัด อำเภอ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องแผ่นดินไหว พร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ และที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนตระหนักถึงภัยต่างๆ ได้เข้าใจอย่างชัดเจนตรงกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ