การลาออกของคณะรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ทั้งคณะเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากที่ทำหน้าที่มานาน 558 วันนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดสำหรับสภาพการเมืองที่แตกแยกของเนเธอร์แลนด์
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มาร์ค รัทเทอ เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการเลือกตั้งครั้งหลังสุดในปี 2553 โดยพรรคลิเบอรัล พาร์ตี (VVD) ของนายรัทเทอ และพรรคคริสเตียน เดโมเครติค แอพพีล (CDA) ของรองนายกรัฐมนตรีแมกซีม เวอร์ฮาเกน
ทั้ง 2 พรรคการเมืองได้ทำข้อตกลงด้านนโยบายกับพรรคฟรีดอม พาร์ตี (PVV) ของนายเกี๊ยร์ต วิลเดอร์ เพื่อตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในรัฐสภา
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา วิลเดอร์สตัดสินใจที่จะยกเลิกการสนับสนุนรัฐบาล หลังจากที่เขาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องงบประมาณปีหน้ากับพรรคการเมืองอีก 2 พรรคได้
วิลเดอร์สทำให้นายรัทเทอไม่มีทางเลือก นอกจากการยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
หัวหน้าพรรค PVV มองว่า การลดงบประมาณทั้งหมด 1.42 หมื่นล้านยูโร (1.87 หมื่นล้านดอลลาร์) เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้
วิลเดอร์สไม่เห็นด้วยกับความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดยอดขาดดุลงบประมาณขั้นสูงสุดไว้ที่ 3% ในปี 2556 และประกาศว่า พรรค PVV จะไม่ยอมให้ชาวดัตช์ต้องควักกระเป๋าของตนเองเพื่อความต้องการที่ไร้ซึ่งเหตุผลของสหภาพยุโรป
แม้ว่าพรรค VVD และ CDA อ้างว่า สามารถทำข้อตกลงได้แล้วหลังจากที่ใช้เวลาในการเจรจามานาน 7 สัปดาห์ แต่นายวิลเดอร์สกลับเลือกที่จะถอนตัว ซึ่งเรื่องนี้อาจมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยรายงานระบุว่า สาเหตุที่ทำให้นายวิลเดอร์สตัดสินใจเช่นนั้นเป็นเพราะ พรรค PVV ของเขาได้รับผลกระทบจากปัญหาตัวบุคคล
นายรัทเทอรู้อยู่แล้วว่า การเลือกพรรค PVV มาเป็นพันธมิตรจะทำให้รัฐบาลของตนขาดเสถียรภาพ โดยเมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมทางการเมืองของเนเธอร์แลนด์ จะเห็นได้ว่าการบริหารงานมักจะแป็นเรื่องของการประนีประนอมมาโดยตลอด
แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นที่ต้องการในเนเธอร์แลนด์ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แต่ระบบการเมืองก็มีเสถียรภาพน้อยลงในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีแต่ละชุดมีอายุการทำงานค่อนข้างสั้น นับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนของปี 2545 เนเธอร์แลนด์มีครม.ถึง 5 ชุดซึ่งจัดตั้งโดยพรรคร่วมรัฐบาลที่แตกต่างกัน โดยครม. 4 ชุดที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การนำของนายแจน ปีเตอร์ บัลเคเนนเด หัวหน้าพรรค CDA ในสมัยนั้น
ภายหลังจากครม.ชุดที่ 4 (การรวมตัวของพรรค CDA, PvdA และพรรคคริสเตียน) เมื่อปี 2553 พรรคของนายบัลเคเนนเดก็ประสบความพ่ายแพ่ในการเลือกตั้ง ส่งผลให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค
พรรค VVD ของรัทเทอคว้าชัยในการเลือกตั้ง แต่มีคะแนนมากกว่าพรรค PvdA ของจ็อบ โคเฮน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัมเพียงคะแนนเดียว อย่างไรก็ดี พรรค VVD ได้รับคะแนนสนับสนุนจากพรรค PVV ซึ่งใช้นโยบายประชานิยม
ขั้นตอนปกติภายหลังการเลือกตั้งนั้น สมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์จะทรงปรึกษากับคณะที่ปรึกษาของพระองค์ (ซึ่งประกอบด้วยรองประธานสภาแห่งรัฐและประธานรัฐสภาทั้งสองสภา) และหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆในรัฐสภา
หลังจากนั้น จะมีการแต่งตั้งบุคคลให้มาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล หรือหาทางจัดตั้งรัฐบาลผสม อย่างไรก็ตาม สมาชิกส่วนใหญ่ของสภาสามัญต้องการลดบทบาทของสมเด็จพระราชินีลง และเพิ่มบทบาทของตนเองในกระบวนการเหล่านี้
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองได้หารือเรื่องกำหนดการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งจากรายงานของสื่อต่างๆนั้น เสียงส่วนใหญ่อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 27 มิ.ย. ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองใหม่ๆจะไม่มีเวลายื่นจดทะเบียนพรรคซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการก่อนวันที่ 15 พ.ค. นอก
ด้วยการเมืองที่แตกแยกเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดคาดว่า พรรค VVD ของรัทเทอจะกลายเป็นพรรคใหญ่สุด ส่วนพรรค PVV ของวิลเดอร์สจะพ่ายศึกเลือกตั้ง ขณะที่พรรคสังคมนิยมอย่างพรรค SP จะได้รับที่นั่งในรัฐสภา
อย่างไรก็ดี จะไม่มีพรรคใดคว้าชัยชนะได้อย่างถล่มทลาย ซึ่งจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2553 นั้น กว่าที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็ล่วงเลยมาจนกระทั่งวันที่ 14 ต.ค. 2553 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ครั้งนี้ ก็อาจจะต้องใช้เวลานานเช่นกัน
เจสซี ไวเทน จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน