In Focusเหลียวมองพม่ากับอนาคตใต้ร่มเงาใบบุญ "ออง ซาน ซู จี"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 2, 2012 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"เธอเป็นสัญลักษณ์ของความหวังแห่งมวลมนุษยชาติของพวกเราทุกคน" บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวถึงนาง ออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและเจ้าของฉายา “ดอกไม้เหล็กแห่งเอเชีย"

... ชาวพม่าคงซาบซึ้งถึงข้อความข้างต้นนี้มากกว่าชนชาติใด ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่1 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อนางซูจีและสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีของเธอกวาดคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย ซึ่งชัยชนะดังกล่าวสะท้อนถึงศรัทธาที่ประชาชนมีต่อนางซูจี ผู้ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า DawSuu หรือ Aunty Suu และวางใจให้เธอเป็นผู้นำพม่าไปสู่การเปลี่ยนแปลง เปรียบดังแสงส่องทางเดินที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ

ทางเดินที่เคยเต็มไปด้วยขวากหนาม เริ่มมองเห็นกลีบกุหลาบแซมอยู่ประปราย เมื่อสหรัฐประกาศผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรพม่า ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ขานรับด้วยการระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าเกือบทั้งหมดเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ตามมาด้วยการเปิดสำนักงานผู้แทนอียูในกรุงย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของพม่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจีนั่นเอง เพื่อเป็นการตอบแทนความพยายามของรัฐบาลพลเรือนที่จะนำพาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย หลังจากที่ปกครองโดยทหารมานานกว่า 50 ปี

ล่าสุด ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ดีขึ้นผิดหูผิดตา ภายหลังการเดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ของนายบัน คี มุน เลขาฯยูเอ็น ที่เพิ่งสิ้นสุดลงในวันอังคาร (1 พ.ค.) ที่ผ่านมา

โดยไฮไลท์ของภารกิจเยือนพม่าเป็นเวลา 3 วันของนายบันคือ การประชุมร่วมกับนายเต็ง เส่ง ประธานธิบดีพม่า และการพบกับนางซูจีเป็นครั้งแรก รวมถึงการเป็นอาคันตุกะชาวต่างชาติคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาพม่า เมื่อวันจันทร์ (30 เม.ย.) ซึ่งเขาได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้นานาประเทศผ่อนปรนการคว่ำบาตรพม่าเพิ่มเติมอีก

ได้เวลา “โชว์ไทม์"

หนึ่งเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและการจุดประกายความหวังผ่านพ้นไป บัดนี้ถึงเวลา “โชว์ไทม์" ที่นางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีจะต้องทำให้ความหวังและความฝันของประชาชนชาวพม่ากลายเป็นความจริง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งกวาด 43 (รวมนางซูจี) จาก 45 ที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในรัฐสภา หากไม่มีการเปลี่ยนถ้อยคำในคำสาบานจาก “ปกป้องรัฐธรรมนูญ" ไปเป็น “เคารพรัฐธรรมนูญ" เนื่องจากมองว่า คำสาบานดังกล่าวซึ่งถูกเขียนขึ้นในสมัยรัฐบาลทหาร ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและยังคงปกป้องบูชาบทบาททางการเมืองของกองทัพ

อย่างไรก็ดี นางซูจีและสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีได้ยินยอมยุติการบอยคอตดังกล่าว และได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่าแล้วในช่วงเช้าวันนี้ (วันพุธที่ 2 พ.ค.)

“ในทางการเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ" นางซูจีกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมพรรคเมื่อวันจันทร์ (30 เม.ย.) “เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อความต้องการของประชาชน และหลังจากที่ได้พิจารณาคำขอร้องของเหล่าสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และบรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง เราจึงตัดสินใจเข้าร่วมทำพิธีสาบานตนในรัฐสภา"

การเปลี่ยนใจของนางซูจีได้รับการยกย่องจากเลขาฯยูเอ็น ซึ่งระบุว่า "ผมทราบว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องยากลำบากมาก แต่ผู้นำที่แท้จริงย่อมต้องคิดถึงประโยชน์ของประชาชนก่อนเป็นสำคัญ นี่คือสิ่งที่ท่านได้ตัดสินใจ ซึ่งผมขอชื่นชมและเคารพการตัดสินใจของท่าน"

อนาคตพม่าใต้เงา "ป้าซู"

ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เม.ย. Thaung Nyant ชาวบ้านในกอว์มู ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของนางซูจี ตั้งตารอที่จะได้ใช้สิทธิของตน “ผมตื่นเต้นที่จะได้ไปเลือกตั้งจนนอนไม่หลับ" เกษตรกรผู้ปลูกหมากและไผ่ วัย 52 ปี กล่าวด้วยรอยยิ้มและความภาคภูมิใจ “ไม่มีผู้สมัครคนใดที่ผมชอบ นอกจาก "ป้าซู" ผู้เป็นที่รักและเป็นที่ปรารถนาของเราทุกคน"

แม่ชี ThadimonhtarHtay Yi ไม่สนใจสุขภาพที่กระเสาะกระแสของตนเอง เธอเดินทางมายังกรุงย่างกุ้งเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในประชาชนและนักข่าวหลายร้อยคนที่เข้าแถวเรียงรายไปตามท้องถนนเพื่อที่จะมีโอกาสได้เห็นนางซูจี ซึ่งเดินสายเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวพม่าในวันเลือกตั้ง

“เรามารวมตัวกันที่นี่เพื่อสนับสนุนป้าซู และขอบคุณป้าซูที่เสียสละเพื่อพวกเรามาโดยตลอด" แม่ชีกล่าว โดยไม่ใกล้ไม่ไกลจากแม่ชี Htwe Thein Naing กำลังยืนยิ้มกว้างจนเห็นฟันดำอันเนื่องมาจากการเคี้ยวหมาก เขากล่าวว่า “ผมเห็นแสงอาทิตย์แล้วในตอนนี้ ผมเชื่อว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต"

วัดฝีมือ-พิสูจน์กึ๋น

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่นางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยทำให้การเมืองกระแสหลักหลุดพ้นออกไปจากร่มเงาของนางซูจี

Thu Wai ประธานพรรคประชาธิปไตยพม่า วัย 77 ปี กล่าวว่า ประชาชนต้องการเวลาเรียนรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ในอนาคต ประชาชนจะพิจารณาความสามารถของนักการเมือง และพวกเขาจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ" แทนที่จะประท้วงด้วยการไม่ไปเลือกตั้งพรรครัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังโดยกองทัพ

ชัยชนะที่ได้มาอย่างง่ายดายของ Zayar Thaw ศิลปินฮิปฮอป ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่ลงสมัครชิงชัยในเขตเลือกตั้งกรุงเนปิดอว์ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับ Thiha Saw นักข่าวมากประสบการณ์ประจำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ โอเพน นิวส์

Thiha Saw กล่าวว่า ผู้สมัครอิสระที่เคยได้รับความนิยมและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ในสังกัดพรรคเอ็นแอลดีนั้นกลับประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดนี้ที่เมืองเม็กติลา เพียงเพราะนางซูจีเดินทางไปที่เมืองดังกล่าวเพื่อช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคเอ็นแอลดี

เขากล่าวด้วยว่า ในครั้งนี้ ผู้สมัครจากพรรคเอ็นแอลดีอาจได้อาศัยชื่อเสียงและความเป็นที่นิยมชมชอบของนางซูจี แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป จะไม่เป็นเช่นนี้แล้ว

“ตอนนี้เป็นเวลาของนางซูจีที่จะได้แสดงทักษะทางการเมืองที่แท้จริงของเธอในรัฐสภา" Thiha Saw กล่าว นอกจากนี้ สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆจะต้องพิสูจน์ว่าพวกเขามีความสามารถและเป็นตัวแทนของราษฎรในเขตเลือกตั้งของตนได้อย่างแท้จริง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งคาดว่า จะเกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งประชาชนจะพิจารณาผลงานของผู้สมัครแต่ละคน

KoKoGyi แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ''88 Generation'' กล่าวว่า พม่าไม่ควรพึ่งพาตัวบุคคลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดย KoKoGyi ซึ่งเป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าจนต้องจบลงด้วยการใช้ชีวิตในคุกเกือบ 20 ปี เน้นย้ำว่า กุญแจสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปใดๆก็ตาม คือ ประชาชน

“หากประชาชนไม่มีความรู้และความตื่นตัวทางการเมือง ประชาธิปไตยของเราก็ไม่มีความหมาย" เขากล่าว “เราต้องสนับสนุนนักการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมือง พลเมืองทุกๆคนมีทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การเมืองไม่ใช่แค่หน้าที่ของนักการเมืองเท่านั้น"

ด้าน Tin MaungMaungThan นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ระบุว่า อนาคตของพม่าจะขึ้นอยู่กับบุคคลสำคัญ 3 ท่านในระบบการเมือง ได้แก่ ปธน.เต็ง เส่ง, นายตูระฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรของพม่า และผู้นำฝ่ายค้านโดยพฤตินัยอย่างนางซูจี

“ทั้งสามท่านจะต้องจัดการกับความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ แต่ผู้ที่จะแบกรับภาระนี้มากที่สุดก็คือนางซูจี" เขากล่าวในบทความที่ตีพิมพ์ใน Asia Pacific Bulletin ของสถาบันอีสต์-เวสต์ เซ็นเตอร์

“ณ จุดนี้ อาจเป็นการดีที่สุดสำหรับพม่าที่ปล่อยให้ตัวบุคคลเด่นกว่าสถาบัน แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเริ่มต้นความพยายามอย่างจริงจังและในทันที เพื่อทำให้สถาบันอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาตัวบุคคลในการนำพาประเทศได้อย่างยั่งยืน'' Tin MaungMaung Than กล่าวย้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ