(เพิ่มเติม) นายกฯ ชี้ต้องเร่งสร้างความเข้าใจชุมชนถึงความจำเป็นสร้างเขื่อนแม่วงก์

ข่าวการเมือง Wednesday May 2, 2012 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะกรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(กนอช.) ถึงการคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ของประชาชนในพื้นที่ว่า จำเป็นต้องมีการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย ตลอดจนการทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน เพราะการสร้างเขื่อนถือเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมแตกต่างกัน เพราะปัญหาน้ำท่วมได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ปัญหาภัยแล้งผู้ได้รับผลกระทบคือภาคการเกษตร ดังนั้นการบรรเทาความเดือดร้อนนั้นรัฐบาลจะแยกการทำงานออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือการแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องการแจกจ่ายน้ำดื่มเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ได้กำชับให้แจกน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาการจ่ายน้ำในภาคการเกษตรนั้น เบื้องต้นจะต้องปรับระดับน้ำในเขื่อนตามที่เคยมีคำสั่งให้รักษาระดับน้ำให้อยู่ที่ 45% ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาใหม่

ส่วนที่สอง คือ ได้ขอให้กรมฝนหลวงลงมาช่วยในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งมาก ซึ่งในจุดนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลอยู่ ขณะเดียวกันจะขอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคการเกษตร

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการ กนอช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาใน 4 เรื่องสำคัญ โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังทำหนังสือขอให้รัฐบาลจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาช่วยวิเคราะห์แผนงานโครงการน้ำท่วมในประเทศไทยเพื่อมาดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการใช้เงิน 1.2 แสนล้านบาทที่รัฐบาลอนุมัติไว้สำหรับบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ได้

ขณะเดียวกัน กนอช.ได้อนุมัติเงินจำนวน 940 ล้านบาทให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชไปดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพาะกล้าไม้, หญ้าแฝก และทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำ

นายปลอดประสพ กล่าวด้วยว่า กนอช.ได้เพิ่มงบประมาณ 1,700 ล้านบาท ให้ไปดำเนินการสร้างเขื่อนคลองรังสิต 2 ช่วง เพื่อป้องกันน้ำเหนือไหล่บ่าเข้าท่วมทิศเหนือของ กทม. และการสร้างเขื่อนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือริมคลองที่ได้งบประมาณไปแล้ว โดยจะมอบหมายให้ท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนก.ค. แต่หากทำแบบถาวรไม่แล้วเสร็จจะต้องทำคันดินชั่วคราวขึ้นมา เพื่อป้องกันน้ำท่วม

นอกจากนี้จะเสนองบประมาณในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกับเงินกู้ที่เหลือจากการอนุมัติโครงการรับมือน้ำท่วมระยะสั้นจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาท โดย กนอช.จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาระยะยาวตามแผนงานที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)จัดทำไว้ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) จะไปทำการร่าง TOR ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี

หลังจากนั้นจะเชิญรัฐบาลต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในระบบบริหารจัดการน้ำคัดเลือกบริษัทเอกชนในประเทศนั้นที่สนใจในการลงทุนโครงการเรื่องน้ำ ไปทำการออกแบบเบื้องต้นที่สามารถแสดงราคา วิธีการดำเนินงานและมีกรอบเวลาที่ชัดเจนมานำเสนอ โดยให้เวลา 3 เดือน ตามกรอบโครงการที่ กยน.ได้ตั้งไว้ โดยรัฐบาลจะคัดเลือกแผนที่ดีที่สุดเพื่อนำไปดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่สนใจมาลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยประมาณ 10 ประเทศ เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์, ฮังการี, อังกฤษ และอิสราเอล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ