นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกฯ คาดว่าเร็วๆนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม จะยื่นเรื่องขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีที่กทม.ขยายอายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)ว่าเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ หากมีความเห็นว่าเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบ
"ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าขัดก็จะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ต่อ แต่คงจะเป็นการยื่นในนามหน่วยงานในสังกัดของรมช.ชัชชาติ ที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ"นายอนุสรณ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
วานนี้ นายอนุสรณ์ แถลงพร้อมกับแจกเอกสารให้ผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ได้แจ้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบเอกสารสำคัญที่ BTS และผู้บริหาร บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้เซ็นสัญญากับผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(กรุงเทพธนาคม) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดย กทม.ในการขยายสัญญาการให้บริการรถไฟฟ้า BTS
ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทางรวม 7.50 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทางรวม 5.25 กิโลเมตร และรวมเส้นทางเดิมของสัมปทานภายหลังครบกำหนดอายุสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572 ระยะทางรวม 23.50 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การให้บริการเดินรถจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 โดย BTSC จะได้รับค่าจ้างรายปี(ชำระให้เป็นรายเดือน) จากกรุงเทพธนาคมสำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลา 30 ปี
นายอนุสรณ์ ระบุว่า โครงการที่เอกชนจะเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ..ย.52 คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ต้องการว่าจ้างให้เอกชนเข้ามาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งหากเอกชนมีการลงทุน เช่น การจัดหาขบวนรถก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ