In Focus“ฟรองซัวส์ ออลลองด์" ผู้นำคนใหม่แดนน้ำหอม ผู้ซึ่งสั่นคลอนเอกภาพอียู

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 9, 2012 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ท่ามกลางวิกฤตการเงินยุโรปที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ประชาคมโลกต่างจับตาทุกการเคลื่อนไหวที่ส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบต่อภูมิภาคแห่งนี้ และประเด็นสำคัญล่าสุดที่ตกเป็นเป้าสายตาของทั่วโลกคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส เนื่องจากผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อแนวทางการแก้ไขวิกฤตหนี้ในยุโรปอย่างแน่นอน เพราะฝรั่งเศสมีอำนาจและมีบทบาทสำคัญในฐานะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของยุโรป เป็นรองเพียงแค่เยอรมนีเท่านั้น

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ได้พลิกความคาดหมายแต่อย่างใด นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ จากพรรคสังคมนิยมฝ่ายซ้าย สามารถคว้าชัยชนะเหนือนายนิโกลาส์ ซาร์โกซี จากพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาไปได้ ส่งผลให้นายออลลองด์กลายเป็นประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมคนแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่นายฟรองซัวส์ มิตแตร็องด์ ลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2538

เศรษฐกิจพ่นพิษ...ต้นตอฝรั่งเศสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ตัวเลขหนี้สาธารณะมหาศาล มาตรการรัดเข็มขัดอันเข้มงวด และอัตราว่างงานที่แกว่งตัวใกล้ระดับ 10% เป็นสาเหตุหลักๆที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกเบื่อหน่ายกับนายซาร์โกซีที่บริหารประเทศมานาน 5 ปี และพยายามแสวงหาตัวเลือกใหม่ที่หวังว่าจะทำให้ความเป็นอยู่ของตนเองดีขึ้น

ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง นายซาร์โกซีซึ่งคะแนนนิยมตกต่ำอย่างหนักอยู่แล้ว เลือกซ้ำเติมตัวเองด้วยการชูนโยบายที่ไม่ถูกใจประชาชน นั่นคือนโยบายรัดเข็มขัดและลดการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งประชาชนเห็นว่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจซบเซาและอัตราว่างงานพุ่งสูงขึ้น นอกจากนั้นประชาชนยังรู้สึกไม่พอใจเป็นทุนเดิมกับนโยบายที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะการเพิ่มอายุการเกษียณจาก 60 ปี เป็น 62 ปี ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับคนทำงาน ขณะเดียวกันนายซาร์โกซีก็พยายามย้ำว่านโยบายของเขาทำให้ฝรั่งเศสไม่ต้องตกที่นั่งลำบากเหมือนสเปน ซึ่งมีอัตราว่างงานพุ่งสูงกว่า 24% อย่างไรก็ดี ประชาชนจำนวนไม่น้อยคิดว่านโยบายของนายซาร์โกซีนี่แหละที่ทำให้ประเทศต้องตกที่นั่งลำบากไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสเปน

ด้านนายออลลองด์นั้น นอกจากจะได้เปรียบเพราะเป็น “ตัวเลือกใหม่" แล้ว นโยบายที่เขานำเสนอยังดึงดูดใจประชาชนมากกว่าหลายขุม ทั้งนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดอายุวัยเกษียณลงเหลือ 60 ปีตามเดิม รวมถึงขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูง เป็นต้น และที่สำคัญ เขาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดของอียูซึ่งนายซาร์โกซีกำลังทำตามอยู่ และประชาชนจำนวนมากก็คิดเช่นเดียวกับออลลองด์

ไม่พลิกโผ “ออลลองด์" นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีคนใหม่แดนน้ำหอม

ด้วยความได้เปรียบทั้งในเรื่องนโยบายที่สวนทางกับอียู (แต่โดนใจชาวฝรั่งเศส) และความ “ใหม่" นายออลลองด์จึงมีคะแนนนิยมเหนือนายซาร์โกซีมาโดยตลอดในการสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้แต่ช่วงโค้งสุดท้ายนายซาร์โกซีก็ทำได้แค่ตีตื้นขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายผลการเลือกตั้งก็ออกมาตามคาด นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ คว้าชัยชนะเหนือนายนิโกลาส์ ซาร์โกซี ด้วยคะแนนเสียงราว 52% ต่อ 48% จากการลงคะแนนของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิราว 80% ซึ่งนายซาร์โกซีก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี และกลายเป็นผู้นำชาติยุโรปรายล่าสุดที่ต้องลงจากตำแหน่งสังเวยวิกฤตการเงิน

นักวิเคราะห์จำนวนมากกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ผลการเลือกตั้งจะกำหนดจุดยืนของฝรั่งเศสในการรับมือกับวิกฤตหนี้ ซึ่งหลังจากคว้าชัยในการเลือกตั้งแล้ว นายออลลองด์ก็ประกาศจุดยืนดังกล่าวอย่างชัดเจนในทันทีว่า “ชัยชนะครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับมาตรการรัดเข็มขัด และการรักษาวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัดจะต้องไม่ใช้ทางเลือกเดียวของชาติอีกต่อไป" ผู้สนับสนุนจำนวนมากที่มารวมตัวกัน ณ จตุรัสปลาซ เดอ ลา บาสตีย์ ในกรุงปารีส ต่างโห่ร้องแสดงความยินดีราวกับได้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาคมโลกต่างมองการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองครั้งนี้ด้วยความหวั่นใจ

โลกหวั่นผู้นำใหม่พายุโรปสู่หายนะ

นายออลลองด์มีนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างจากนายซาร์โกซีอย่างเห็นได้ชัด และเป็นนโยบายที่นักวิเคราะห์เกรงว่า จะเป็นอุปสรรคต่อการแก้วิกฤตหนี้ยูโรโซน เนื่องจากนายออลลองด์เชื่อว่า การดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวจะดึงยุโรปออกจากห้วงวิกฤตได้ดีกว่าการรัดเข็มขัดอย่างจริงจัง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวขัดกับสนธิสัญญาหลักการงบประมาณยุโรปที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีซาร์โกซีและนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ของเยอรมนี ดังนั้นการขึ้นมามีอำนาจของนายออลลองด์อาจทำให้ความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีในการแก้วิกฤตหนี้ไม่ราบรื่นเหมือนเดิม

แนวโน้มเชิงลบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตลาดน้ำมัน ตลาดเงิน ไปจนถึงตลาดทองคำทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางในการใช้มาตรการรัดเข็มขัดของยุโรป อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปกลับบวกขึ้นเพราะขานรับข่าวที่นายกรัฐมนตรีแมร์เคลของเยอรมนีออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของนายออลลองด์ พร้อมกับย้ำว่าเธอเปิดกว้างต้อนรับนายออลลองด์อย่างเต็มที่ และทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนต่อไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การร่วมมือกันระหว่างสองผู้นำที่มีแนวคิดสวนทางกันคงไม่ง่ายอย่างที่พูด ล่าสุดนางแมร์เคลก็เพิ่งออกมายืนยันว่า จะไม่มีการเจรจาต่อรองข้อตกลงด้านการคลังเกี่ยวกับการควบคุมงบประมาณและมาตรการรัดเข็มขัดใหม่อีกครั้งตามที่นายออลลองด์ต้องการ โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการรับรองไปแล้วโดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 25 ประเทศจากทั้ง 27 ประเทศในการประชุมสุดยอดของยุโรปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่ควรมีการหยิบยกขึ้นมาแก้ไขง่ายๆ เพียงเพราะมีการเปลี่ยนผู้นำ การที่นางแมร์เคลส่งสัญญาณ “ปราม" ผู้นำคนใหม่ ยิ่งทำให้ทั่วโลกรู้สึกถึงความขัดแย้งและยิ่งทวีความกังวลเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งส่อแววว่า จะขาดเอกภาพตั้งแต่ผู้นำฝรั่งเศสคนใหม่ยังไม่ได้เริ่มงาน

นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นการเดินหน้าบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบจะเริ่มขึ้น ทั่วโลกต้องจับตาดูต่อไปว่า นายออลลองด์จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและผ่อนปรนมาตรการรัดเข็มขัดตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งถือเป็นการปกป้องประชาชนในประเทศตัวเองแต่อาจทำลายเอกภาพของชาติสมาชิกอียูที่กำลังพยายามรัดเข็มขัดกันอย่างเต็มที่ หรือนายออลลองด์จะยอมปรับเปลี่ยนท่าทีและโอนอ่อนผ่อนตามอียู เพื่อให้ชาติสมาชิกทั้งหมดรอดพ้นวิกฤตไปด้วยกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ